โครงการจัดประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กองทัพไทย ประจำปี  2559

1. หลักการและเหตุผล

         เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 89 พรรษา 5 ธันวาคม 2559 กองทัพไทย จึงได้จัดการประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ 70 ปี ที่ได้พระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากกว่า 4,596 โครงการ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่พี่น้องประชาชนชาวไทยทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจัดการประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของกองทัพไทยครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ เป็นการยกระดับการน้อมนำผลการปฏิบัติของกองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปสู่การจัดการประกวดในระดับประเทศ เพื่อให้กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และภาคประชาชนที่ได้รับการส่งเสริม สามารถน้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน และ การดำเนินชีวิตประจำวัน ให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน


2. วัตถุประสงค์

        2.1 เพื่อให้ข้าราชการทหาร ตำรวจ ครอบครัว และประชาชนทั่วไป ได้มีส่วนร่วมในการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 และเฉลิมพระชนมพรรษา 89 พรรษา 5 ธันวาคม 2559
        2.2 เพื่อเผยแพร่พระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปสู่ประชาชนชาวไทยทุกภาคส่วน ในการปฏิบัติงาน และการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและยั่งยืน
        2.3 เพื่อส่งเสริมยกย่องและเชิดชูเกียรติ กำลังพลกองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจน ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ที่ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานและการดำเนินชีวิต จนประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม


3. ห้วงเวลาดำเนินงาน : ต.ค.58- ก.ย.59

       3.1 ประชุมครั้งที่ 1 ส่วนราชการภายใน (ห้วง 6 พ.ย.58)
       3.2 ประชุมครั้งที่ 2 คณะกรรมการดำเนินงานฯ (ห้วง 19 พ.ย.58)
       3.3 ขออนุมัติดำเนินการตามโครงการฯ และแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน (ห้วง 23-27 พ.ย.58)
       3.4 การแถลงข่าวการจัดประกวดผลงาน (ห้วง ม.ค.59 )
       3.5 กำหนดรับสมัครผลงาน (ห้วง 1-15 มี.ค.59)
       3.6 การตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น (ห้วง 1 - 30 เม.ย.59)
       3.7 ชุดตรวจดำเนินการตรวจผลในพื้นที่ (ห้วง พ.ค. - มิ.ย.59)
       3.8 การขออนุมัติผลการประกวดและการประกาศผล (ห้วง 4 - 8 ก.ค.59)
       3.9 ประชุมครั้งที่ ๓ เตรียมพิธีมอบรางวัล (ห้วง 26 ก.ค.59)
       3.10 พิธีมอบรางวัล (ห้วงต้นเดือน ส.ค.59)


4. งบประมาณ

       ใช้งบประมาณ ของ ศูนย์ประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง


5. การดำเนินงาน

       การจัดการประกวดเป็นความร่วมมือกันระหว่าง กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการดำเนินงาน ดังนี้
       5.1 การเตรียมงานและประกาศเชิญชวน โดยจัดการประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการประกวด การประชาสัมพันธ์ การเสนอเรื่องขออนุมัติ ต่อ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รวมทั้งการประกาศเชิญชวนให้ส่วนราชการใน กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทราบ
       5.2 การรับสมัครและการตรวจผลงานที่ส่งเข้าประกวด โดยการรับสมัคร การส่งผลงานเข้าประกวดการตรวจผลงานที่ส่งเข้าประกวด และการตัดสินผลงานจากคณะกรรมการฯ
       5.3 ขออนุมัติประกาศผลการตัดสินและพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะการประกวด ในห้วง ก.ค.59 และจัดพิธีมอบรางวัลในห้วง ส.ค.59 โดยเรียนเชิญ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล


6. รางวัล

        6.1 การรับรางวัล
                 6.1.1 ชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลชนะเลิศ พร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000.-บาท
                 6.1.2 รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล จำนวน 30,000.-บาท
                 6.1.3 รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับถ้วยรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 พร้อมเงินรางวัล จำนวน 20,000.-บาท
        6.2 การจารึกชื่อ - สกุล และ ตำแหน่ง บนถ้วยรางวัล
                 6.2.1 ประเภทประชาชนทั่วไป (ทุกสาขาอาชีพ) ที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยทหารหรือตำรวจ จารึกชื่อ – สกุล และ ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บนถ้วยรางวัล
                 6.2.2 ประเภทหน่วยงานต้นแบบที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงาน จารึกชื่อ – สกุล และ ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารสูงสุด บนถ้วยรางวัล
                 6.2.3 ประเภทหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยเท้าพ่อ จารึกชื่อ – สกุล และ ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารบก บนถ้วยรางวัล
                 6.2.4 ประเภทศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยทหารหรือตำรวจ จารึกชื่อ – สกุล และ ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารเรือ บนถ้วยรางวัล
                 6.2.5 ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง (ผลงานของชุมชนบริเวณบ้านพักในหน่วยทหารหรือตำรวจ) จารึกชื่อ – สกุล และ ตำแหน่ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ บนถ้วยรางวัล
                 6.2.6 ประเภทครอบครัวข้าราชการที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินชีวิต จารึกชื่อ – สกุล และ ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บนถ้วยรางวัล

7. ประเภทการประกวด

        แบ่งการประกวดออกเป็น 6 ประเภท คือ   

ประเภท คุณสมบัติ

ประเภทประชาชนทั่วไป (ทุกสาขาอาชีพ) ที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยทหารหรือตำรวจ

บุคคลที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จอยู่ดีมีสุข สามารถเป็นแบบอย่างสำหรับประชาชนทั่วไป และเคยได้รับรางวัลในการประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กองทัพไทย ในห้วง 2554-2558

ประเภทหน่วยงานต้นแบบที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงาน
- ระดับกองพัน – กรม
ผบ.หน่วยชั้นยศ พ.ท. – พ.อ.(พ)
- ระดับ กองร้อย –
กองกำกับการ ตชด  
พ.ต.ต. – พ.ต.อ.(พ.).

หน่วยทหารหรือตำรวจที่นำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปรับใช้ ในการทำงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น ผู้ร่วมงานสามารถอธิบายการทำงานโดยใช้แนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้้

ประเภทหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยเท้าพ่อ

เป็นหมู่บ้านที่ประกาศจัดตั้งโดยกระทรวงมหาดไทยตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ไม่น้อยกว่า 30 หลังคาเรือน และได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ ที่ สร้างประโยชน์สุขให้ชุมชนโดยส่วนรวมมีความสามัคคี และสามารถพึ่งตนเองได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และไม่เคยได้รับรางวัลการประกวดด้านปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับ จังหวัดหรือสูงกว่ามาก่อน
ประเภทศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยทหารหรือตำรวจ
เป็นศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ที่ดำเนินการโดยหน่วยทหาร หรือตำรวจ
ประเภทชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง (ผลงานของชุมชนบริเวณบ้านพักในหน่วยทหารหรือตำรวจ)
ชุมชุนทหารหรือตำรวจ บริเวณบ้านพักที่มีสมาชิก ของชุมชนรวมตัวกันตั้งแต่ 10 ครัวเรือนขึ้นไป ที่นำแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปรับใช้ สามารถดำเนินชีวิตประจำวันอย่างอยู่ดี มีสุข ชาวชุมชนสามารถอธิบายการใช้ชีวิตประจำวันตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้

ประเภทครอบครัวข้าราชการที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินชีวิต

ครอบครัวข้าราชการ ที่มีความประพฤติดี มีคุณธรรม และดำเนินชีวิตประจำวันตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจนประสบความสำเร็จอยู่ดีมีสุข สามารถเป็นแบบอย่างสำหรับประชาชนทั่วไป


8. คณะกรรมการ

       คณะกรรมการแบ่งออกเป็น  4 คณะ คือ
        8.1 คณะกรรมการดำเนินงานจัดการประกวดฯ จัดจากผู้แทนส่วนราชการ อาทิ กองบัญชาการกองทัพไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองกิจการพลเรือนทหาร กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
        8.2 คณะอนุกรรมการตัดสินผลการประกวดฯ จัดจากผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานนโยบายและแผนกลาโหม ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 6 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กองบัญชาการกองทัพไทย หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองกิจการพลเรือนทหาร กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
        8.3 คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การประกวดฯ จัดจากผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมกิจการพลเรือนทหาร กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
        

             


9. การส่งผลงานเข้าประกวด

       หน่วยที่ส่งผลงานเข้าประกวดจะต้องจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ที่ต้องการเข้าประกวดในลักษณะ “เล่าเรื่องด้วยวีดิทัศน์” ความยาวประมาณ 5 นาที เพื่ออธิบายประวัติและผลงาน พร้อมแนบเอกสารที่มีภาพประวัติและผลงาน ประมาณ 10 ภาพ ส่งให้ ศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริและความมั่นคง ตามระยะเวลาที่กำหนด            


10. การตรวจผลงาน

       คณะกรรมการจะตรวจเอกสารจากหน่วยงานที่ส่งเข้าประกวดเป็นลำดับแรก และเดินทางไปตรวจพื้นที่จริงพร้อมกับสอบถามจากผู้ปฏิบัติเพื่อตัดสินผลงานต่อไป           


11. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

       กำลังพล กองบัญชาการกองทัพไทย เหล่าทัพ และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดจน ครอบครัว และประชาชนทั่วไป ได้แสดงออกซึ่งการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์โดยการเผยแพร่พระปรีชาสามารถ และพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้พระราชทานความช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ยาก ของพสกนิกรชาวไทยมาตลอดระยะเวลาแห่งการครองสิริราชสมบัติ
             


ผลตัดสินการประกวดผลงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
กองทัพไทย ประจำปี  2559

ประเภทที่ 1  ประชาชนทั่วไป(ทุกสาขาอาชีพ)ที่ได้รับการส่งเสริมจากหน่วยทหารหรือตำรวจ
รางวัลชนะเลิศ
  เจ้าของผลงาน : นางวิมลลักษณ์ ไชยหานาม
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพบก

ความสุขที่เริ่มต้นจากพึ่งตนเอง
       นางวิมลลักษณ์ ไชยหานาม อายุ 48 ปี มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 4 คนประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีสภาพความเป็นอยู่แบบเกษตรกรทั่วไป มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เนื่องจากทำการเกษตรเชิงเดี่ยวโดยการปลูกข้าว รวมทั้งดินมีสภาพเป็นดินเค็มทำให้ได้ผลผลิตน้อย เป็นผลให้เกิดหนี้สิน จึงเริ่มดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2550 โดยได้รับแรงจูงใจมาจากการเข้าฝึกอบรมกับหน่วยราชการตามโครงการพระราชดำริของในหลวง “โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่” และเปลี่ยนความคิดทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อพออยู่พอกิน หากเหลือค่อยนำไปขาย ให้ทำไปตามกำลังของเราเองบนความพอใจ และให้ตนเองมีความสุข อยากกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น พยายามขยันและอดทน จนวันเวลาผ่านไป พืชผักสวนครัวได้ผลผลิตเหลือจากการบริโภค สามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านและเหลือขาย จึงเริ่มมีรายได้เล็กๆน้อยๆ ต่อมา ไม้ผลเริ่มออกผลผลิตจึงนำออกขายในตลาดเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง และจากการประหยัด อดออม ทำให้สามารถปลดหนี้สินที่กู้ยืมมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรได้อย่างรวดเร็ว
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ทำการเกษตรในพื้นที่ 15 ไร่ สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 4 คน ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เหลือกินก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านและนำไปขายสร้างรายได้เสริม เช่น ตะไคร้ ข่า มะพร้าวน้ำหอม กล้วย ไผ่หวาน เสาวรส ขี้เหล็ก กลอย กระถิน ผักชีลาว ฝักข้าว บัว การบูร กาแฟ ยางนา แฝก จามจุรี สัก ชิงชัน มะค่าโมง ประดู่ มะฮอกกานี และการเลี้ยงสัตว์ เช่น โค ไก่ ไก่งวง เป็ด ปลา กวาง
ความมีเหตุผล
       เนื่องจากดินทุ่งกุลา มีคุณสมบัติเป็นกรดมีลักษณะเป็นดินเค็ม ไม่เหมาะสมในการทำนา จึงได้ปรับปรุงที่ดินโดยปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วเช่น ยูคาลิปตัส บนคันนาเพื่อควบคุมน้ำเค็มใต้ดินไม่ให้แพร่ขึ้นมาเหนือดินซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก การปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยพืชสดเช่น ปอเทือง เพื่อฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน การเตรียมทำแปลงปลูกข้าว โดยหลังจากกำจัดวัชพืชแล้ว ได้ทำการใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักให้ทั่วพื้นที่แล้วไถกลบลึกประมาณ 15-20 ซม.ในช่วงที่เริ่มมีฝนตกเพราะดินมีความชื้นจากนั้นให้ปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อคลุมดินไม่ให้หน้าดินแห้งเพื่อตรึงไนโตรเจนจากอากาศแล้วทำการไถกลบเมื่อเริ่มออกดอกเพื่อเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้แก่ดิน
ภูมิคุ้มกัน
       ใช้จ่ายอย่างประหยัดเฉพาะสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำมันรถ ส่งผลผลิตเป็นต้น โดยถือหลักจ่ายให้น้อยที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ถ้าเรามีหนี้สินอยู่ชีวิตครอบครัวจะไม่มีความสุข อาจเกิดความขัดแย้ง ทะเลาะกัน ไม่มีเรี่ยวแรงทำมาหากิน ลูกจะเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ เสียสุขภาพจิต เราจึงต้องมีการวางแผนชีวิตให้กับลูกๆด้วย
ความรู้
       มีโอกาสเข้ารับการอบรมที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เข้ารับการอบรมกับหน่วยงานต่างๆทั้งราชการและเอกชน จนทำให้ได้แนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตครอบครัว และการช่วยเหลือสังคม ขณะเดียวกันไม่หยุดที่จะหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในตำรา หรือจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กับผู้อื่น
คุณธรรม
       ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงเบียดเบียนผู้อื่น หาเลี้ยงชีพด้วยความเพียร ขยันและอดทน พยายามไม่เป็นหนี้ผู้อื่น รู้จักประหยัดอดออม ลดรายจ่ายภายในครอบครั
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       มีความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่หน่วยงานต่างๆ สามารถเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นในการขยายผลให้เพื่อนบ้านและผู้สนใจได้มาปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น โดยมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจข้าว กลุ่มวิสาหกิจวัว ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง รู้จักเก็บออมเงิน ใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ และยังช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีกันมากขึ้น
 
จุดเด่น
       สามารถปลูกตะไคร้ ได้ปริมาณมากส่งขายได้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 สามารถนำครอบครัวพ้นจากภาระหนี้สินภายในระยะเวลารวดเร็ว สร้างครอบครัวได้อย่างอบอุ่น ปลูกบ้าน ที่อยู่อาศัยของตนเอง ส่งบุตรสาวและบุตรชายเรียนในระดับมหาวิทยาลัย และรับทุนเรียนศึกษาต่อในต่างประเทศ ประกอบกับเป็นผู้มีความอุตสาหะใฝ่หาความรู้และเข้าฝึกอบรมกับหน่วยราชการต่างๆ ทำให้เกิดการสั่งสมความรู้และเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง จากการที่ไม่หวงความรู้ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามาพูดคุยและขอดูพื้นที่ทำการเกษตรกรรมอยู่เสมอ
 
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
  เจ้าของผลงาน : นายสำรอง แตงพลับ
  หน่วยงานสนับสนุน : กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ความสุขที่เริ่มต้นจากพึ่งตนเอง
       นายสำรอง แตงพลับ อายุ 71 ปี มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน ๗ คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยเริ่มอาชีพการเกษตรตั้งแต่ปี พ.ศ.2512 โดยทำการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ได้แก่ ไร่อ้อย สัปปะรดและข้าวโพด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งทำให้หนี้สินเพิ่มมากขึ้นทำให้ความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น จึงเริ่มดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2544 โดยได้รับแรงจูงใจมาจากการอบรม ศึกษาดูงานที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงได้เปลี่ยนแนวความคิดจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการขาย มาเป็นทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อพออยู่พอกิน หากเหลือค่อยนำไปขาย ไม่คิดแข่งขันกับใคร ทำไปตามกำลังของเราเองบนความพอใจและให้ตนเองมีความสุข อยากกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น มีภรรยาและบุตรเป็นผู้ช่วย พยายามขยันและอดทน จนวันเวลาผ่านไป พืชผักสวนครัวได้ผลผลิตเหลือจากการบริโภค สามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านและเหลือขาย จึงเริ่มมีรายได้เล็กๆน้อยๆ ต่อมาไม้ผลเริ่มออกผลผลิต จึงนำออกขายเป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง จากการประหยัด อดออม ทำให้ปลดหนี้สินได้
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ทำการเกษตรในพื้นที่ 30 ไร่ สำหรับครอบครัวที่มีสมาชิก 7 คน ยึดหลักที่ถือปฏิบัติมาโดยตลอดคือ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำทีละอย่าง” และ “ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” เหลือกินก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านและนำไปขายสร้างรายได้ เช่น การปลูกกล้วย มะม่วง ขนุน มะละกอ ฝรั่ง พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว สะเดา อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มจากการเลี้ยงวัว หมูหลุม เป็ด ไก่ ปลารวมทั้งการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ อีกด้วย
ความมีเหตุผล
       จากเดิมที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรเชิงเดี่ยว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จนเป็นหนี้สิน ต่อมาเมื่อได้มีโอกาสรับความรู้จากหน่วยราชการและขวนขวายด้วยตนเอง มาทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยปลูกพืชผักแบบหมุนเวียน ให้แต่ละชนิดเกื้อกูลกัน ปลูกไม้ผล ปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงสัตว์ ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีอาหารบริโภคตลอดปี ทำให้ครอบครัวไม่เดือดร้อนอยู่อย่างมีความสุข
ภูมิคุ้มกัน
       จัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้ทราบรายรับ-รายจ่ายของครอบครัว เนื่องจากมีรายได้รายวันที่เกิดจากการขายพืชผักชนิดต่างๆ และเงินได้รายงวดหรือรายเดือนจากไม้ผล เช่น กล้วย มะพร้าว มะละกอ รวมทั้งผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวเป็นช่วงเวลา เช่น คะน้า ผักกาดขาว กวางตุ้ง ผักชี แตงกวา จึงทำให้ปัจจุบันไม่มีหนี้สิน มีเงินออมไว้ใช้ยามจำเป็น
ความรู้
       ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2544 จึงได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นหลักในการปฏิบัติ โดยทำการเกษตรร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ มีการจัดรูปแบบแปลงแบ่งพื้นที่เพื่อทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ และเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาปรับปรุงดิน รวมทั้งการอบรมอื่นๆอย่างต่อเนื่อง
คุณธรรม
       ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงเบียดเบียนผู้อื่น หาเลี้ยงชีพด้วยความเพียร ขยัน และอดทน รู้จักประหยัดอดออม ลดรายจ่ายภายในครอบครัวรวมทั้งงดเว้นอบายมุขอีกด้วย
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       มีความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่หน่วยงานต่างๆ สามารถเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้อื่นในการขยายผลให้กับเพื่อนบ้านและผู้สนใจได้มาปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง รู้จักเก็บออมเงิน ใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ และยังช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่ม เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีกันมากขึ้น
 
จุดเด่น
       นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในด้านการเกษตร ปศุสัตว์ เนื่องจากมีความรู้เรื่องสมุนไพร จึงใช้สมุนไพรในการรักษาโรคทั้งคนและสัตว์ รวมทั้งนำสมุนไพรมาใช้ไล่แมลงศัตรูพืช และสามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้แก่เกษตรกรทั่วไปได้นำไปใช้ นอกจากนั้นยังเป็นประธานกลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองเขื่อน เป็นปราชญ์ชาวบ้านตำบลไร่ใหม่พัฒนา เป็นหมอดินอาสาระดับตำบล ได้รับรางวัลมากมายในทุกระดับรวมทั้งออกรายการสารคดีทางสถานีโทรทัศน์ต่างๆอีกด้วย
 
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
  เจ้าของผลงาน : นางปพิชญา นวลบุญ
  หน่วยงานสนับสนุน : หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ความสุขที่เริ่มต้นจากพึ่งตนเอง
       นางปพิชญา นวลบุญ อายุ 50 ปี มีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 5 คน ประกอบอาชีพเกษตรกรรมปลูกยางพารา มีสภาพความเป็นอยู่แบบเกษตรกรทั่วไป มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เป็นผลให้เกิดหนี้สิน จึงเริ่มดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี 2552 โดยได้รับแรงจูงใจมาจากการเข้าฝึกอบรมที่ศูนย์ร้อยวัลย์พันธุ์ป่า จว.พัทลุง ได้นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ที่บ้านและมีการเชิญเพื่อนบ้านเข้ามาเป็นกลุ่มสมาชิก ทำการปลูกแตงกวา จัดตั้งกลุ่มปุ๋ยหมักร่วมกับชุมชน
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ทำการเกษตรในพื้นที่ 8 ไร่ อยากกินอะไรก็ปลูกอย่างนั้น เหลือกินก็แบ่งปันให้เพื่อนบ้านและนำไปขายสร้างรายได้เสริม เช่น การทำปุ๋ยหมัก ผลิตถั่วงอกแบบไร้ราก การปลูกแตงกวา กล้วย พริก ผักกางมุ้ง ผักกูด มะนาว ไผ่ตงหวาน อีกทั้งยังมีรายได้เพิ่มจากการเลี้ยงปลาในบ่อดิ
ความมีเหตุผล
       จากเดิมที่ประกอบอาชีพทำการเกษตรเชิงเดี่ยวแต่รายได้ไม่เพียงพอ มีหนี้สิน จึงเริ่มหันมาปลูกผักสวนครัวและทำเกษตรแบบผสมผสาน และหาโอกาสเข้ารับการอบรมจากหน่วยราชการและขวนขวายใฝ่รู้ด้วยตนเอง ทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้น
ภูมิคุ้มกัน
       จดบันทึกทำบัญชีครัวเรือน รู้จักประมาณตนเอง ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย รู้จักเก็บออมไว้ใช้ในอนาคต เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา ถ้าเรามีหนี้สิน ชีวิตครอบครัวก็จะไม่มีความสุข ลูกจะเติบโตอย่างไม่มีคุณภาพ
ความรู้
       มีโอกาสได้รับเลือกจากหน่วยงานต่างๆทั้งราชการและเอกชน ให้เข้าร่วมฝึกอบรมในเรื่องต่างๆจนได้รับแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันทั้งการประกอบอาชีพ ชีวิตครอบครัวรวมถึงการช่วยเหลือสังคมขณะเดียวกันก็ไม่หยุดที่จะหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในตำรา หรือจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิด ประสบการณ์กับผู้อื่น
คุณธรรม
       ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คดโกงเบียดเบียนผู้อื่น หาเลี้ยงชีพด้วยความเพียร ขยันและอดทน พยายามไม่เป็นหนี้ผู้อื่น รู้จักประหยัดอดออม ลดรายจ่ายภายในครอบครัว
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       มีความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่หน่วยงานต่างๆ สามารถเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นในการขยายผลให้เพื่อนบ้านและผู้สนใจได้มาปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้น ทุกครัวเรือนปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง รู้จักเก็บออมเงินใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ และยังช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมโดยช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีกันมากขึ้น
 
จุดเด่น
       ปลูกแตงกวาแทนการทำสวนยาง จำนวน ๕ ไร่ ปลูกกล้วยน้ำว้า พริก และไผ่ตงหวาน สามารถนำครอบครัวพ้นจากภาระหนี้สินภายในระยะเวลารวดเร็ว สร้างครอบครัวได้อย่างอบอุ่น ปลูกบ้าน ที่อยู่อาศัยของตนเอง ประกอบกับเป็นผู้มีความอุตสาหะใฝ่หาความรู้และเข้าฝึกอบรมกับหน่วยราชการต่างๆ ทำให้เกิดการสั่งสมความรู้และเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง และจากการที่ไม่หวงความรู้ทำให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงเข้ามาพูดคุยและขอดูพื้นที่ทำการเกษตรกรรมอยู่เส
 
 

ประเภทที่ 2  หน่วยงานต้นแบบที่นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการปฏิบัติงาน
รางวัลชนะเลิศ
  เจ้าของผลงาน : กองพันสารวัตรทหารเรือที่ 2 กรมสารวัตรทหารเรือ
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพเรือ

ความเป็นหน่วยต้นแบบ
       กองพันสารวัตรทหารเรือที่ ๒ กรมสารวัตรทหารเรือ มีที่ตั้งอยู่ใน ต.สัตหีบ และ ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี มีกำลังพลประมาณ ๔๐๐ นาย กำลังพลส่วนใหญ่ มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน หน่วยจึงได้ส่งเสริมให้มีการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิตของกำลังพลและครอบครัว โดยหน่วยมีกิจกรรมต่างๆตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่
       ๑.การปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ เพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารกลางวันแก่กำลังพล เป็นการลดรายจ่ายของกำลังพลในภาพรวม พืชที่ปลูกได้แก่ แตงร้าน คะน้า กวางตุ้ง พริก กระเพรา มะเขือเปราะ ผักชี ข้าวโพด ผักบุ้งจีน เป็นต้น การปลูกพืชดังกล่าวได้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้ จากธรรมชาติทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี
       ๒.การเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร อาทิเช่น โค ปลาดุก ปลานิล และไก่ เป็นต้น โดยมีการลดต้นทุน ด้านอาหารสำหรับเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ การนำหญ้าที่มีอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบมาใช้เลี้ยงโค นำมูลไก่ที่ถ่ายลงในน้ำมาเป็นอาหารปลา นำเศษอาหารจากโรงอาหารมาเป็นอาหารให้แก่ไก่ และปลา
       ๓.การนำวัสดุเหลือใช้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อาทิเช่น นำเศษไม้มาเผาให้เป็นถ่านหุงต้มเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร การนำแผ่นฟิล์มเอ็กซเรย์ที่เลิกใช้แล้วมาเป็นส่วนประกอบในเสื้อเกราะกันกระสุน การนำดินที่เหลือใช้ในการขุดสระน้ำมาสร้างบ้านดิน เพื่อเป็นที่พักให้กับกำลังพล
 
ด้านนโยบายและการจัดหน่วย
       กองพันสารวัตรทหารเรือที่ ๒ กรมสารวัตรทหารเรือ แบ่งพื้นที่รับผิดชอบในการดำเนินการตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ๒ ส่วน คือ พื้นที่เขาตะแบกและพื้นที่อ่าวดงตาล มีการมอบนโยบายและจัดหน่วยเพื่อนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในพื้นที่ต่างๆ และให้หน่วยงานสามารถปฏิบัติตามวิสัยทัศน์และนโยบายของหน่วยที่ได้วางไว้ คือ เป็นเลิศด้านการรักษาความปลอดภัย และมีความพร้อมปฏิบัติภารกิจได้ทุกสถานการณ์ ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี ซึ่งภายใต้การบริหารจัดการที่ดีนั้น กองพันได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินการ โดยเริ่มตั้งแต่การแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อกำหนดการขับเคลื่อนตามวิสัยทัศน์ นโยบาย และติดตามประเมินผลทุกเดือนโดยกองพันมีโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการปลดหนี้ โครงการบวรสร้างสุข โครงการฝึกหัดศึกษา และโครงการอาหารกลางวัน
 
ด้านงบประมาณและการบริหารการเงิน
       มีการรายงานผลการดำเนินงานเป็นประจำทุกๆ รอบเดือน เพื่อให้ผู้บังคับบัญชารับทราบถึงผลการดำเนินงาน อีกทั้งยังมีการแสดงผลให้กับข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการได้รับทราบ จากการนำผลกำไรจากเงินงบประมาณสวัสดิการของกองพัน มาจัดทำเป็นแผนการจัดสรรงบประมาณเพื่อให้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโครงการที่บรรลุจุดมุ่งหมายตามนโยบายที่ได้จัดทำไว้
 
ด้านการพัฒนาบุคลากร
       ส่งกำลังพลไปฝึกอบรมความรู้ด้านการรักษาความปลอดภัยประจำสัปดาห์ สำหรับแผนการพัฒนา มีการส่งกำลังพลไปฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนากองพันตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การเลี้ยงปลา การซ่อมรถ หลักสูตรนายสิบอาวุโส หลักสูตรสุนัขทหาร นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ความรู้จากที่ได้รับจากการไปฝึกอบรมโดยนำความรู้ไปสอนให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายในการปฏิบัติงานร่วมกัน เช่น ส่งบุคลากรไปสอนอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ส่งผลให้การปฏิบัติงานได้รับความร่วมมือและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
ด้านผลสัมฤทธิ์
       จากการดำเนินการตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแบบพึ่งพาตนเอง ทำให้เป็นหน่วยงานที่มีความพอเพียงเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานต่างๆ เช่น ได้นำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ ณ โรงเรียน กม. ๕ จนกระทั่งได้รับรางวัลใบประกาศเกียรติคุณเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ได้มีการนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการจัดทำเสื้อเกราะกันกระสุนจนกระทั่งได้รับรางวัลนวัตกรรมระดับกระทรวงกลาโหม
       นอกจากหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การยอมรับแล้วยังมีประชาชนที่มาขอรับบริการยังให้ความชื่นชม ในการให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เช่น การจราจร จุดบริการประชาชน จนเป็นที่ยอมรับจากประชาชนว่าเป็น “สห.ของประชาชน”
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
  เจ้าของผลงาน : หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 22 สำนักงานพัฒนาภาค 2
  หน่วยงานสนับสนุน : หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ความเป็นหน่วยต้นแบบ
       หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๒๒ สำนักงานพัฒนาภาค ๒ เป็นหน่วยงานหนึ่งของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ซึ่งมีภารกิจดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติรวมทั้งการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย โดยดำเนินการตาม ๘ แผนงานหลักของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นอกจากนั้นหน่วยยังรับผิดชอบโครงการพระราชดำริ จำนวน ๒ โครงการ คือ
       - โครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง บ.ทางหลวง ต.บ้านแก้ง อ.นาแก จ.นครพนม
       - โครงการฟาร์มตัวอย่าง หนองปลาค้อเฒ่า บ.โพนทา ต.กุตาไก้ อ.ปลาปาก จ.นครพนม
       หน่วยมีศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมให้ประชาชน นักเรียนหรือผู้ที่สนใจได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและขยายผลสู่กำลังพลที่พักอาศัยอยู่ภายในหน่วยและนอกหน่วย เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของตน ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้กับตนเองและครอบครัวได้เป็นอย่างดี
 
ด้านนโยบายและการจัดหน่วย
       หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ๒๒ มีการมอบนโยบายการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในหน่วยงาน ออกคำสั่งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบในการถ่ายทอดเป็นยุทธศาสตร์ของหน่วยและแผนปฏิบัติการในภารกิจหลักของหน่วย สามารถนำไปใช้กับกิจกรรมพัฒนาและช่วยเหลือประชาชน กิจกรรมเกษตรผสมผสานตามแนวทางพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียง รวมทั้งนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารหน่วย มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในหน่วยอย่างทั่วถึง จนสร้างความพึงพอใจต่อประชาชนที่มาใช้บริการ เช่น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค ไลน์ เป็นต้น มีนโยบายใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่า โดยทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการทรัพยากร รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะ และมีกิจกรรมส่งเสริมการใช้ทรัพยากร เพื่อสร้างสำนึกต่อส่วนรวมในการใช้ทรัพยากรและมีการสร้างสิ่งประดิษฐ์มาใช้เพื่อลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่าย
 
ด้านงบประมาณและการบริหารการเงิน
       หน่วยมีการประชุมชี้แจงการดำเนินการตามแผนงานให้บุคลากรและผู้ที่เกี่ยวข้องของหน่วยงานได้รับทราบ และมีระบบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างสุจริต ประหยัด คุ้มค่า เปิดเผย โปร่งใส รวมทั้งสามารถดำเนินการได้ตามแผนอย่างครบถ้วน โดยหน่วยกำหนดให้รองผู้บังคับหน่วย รับผิดชอบในการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณและติดตามผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
 
ด้านการพัฒนาบุคลากร
       หน่วยได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ารับการอบรมแบบสหวิทยาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านช่าง ด้านการเกษตร ด้านการประมง ฯลฯ มีการใช้สื่อเทคโนโลยีที่เหมาะสมหลายรูปแบบ มีช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้แก่บุคลากร และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ พร้อมกับมีการทบทวนข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาที่ดีต่อไป ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน
       ตลอดจนสนับสนุนการเสริมสร้างวิถีชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีกิจกรรมในการพัฒนา คุณธรรม จริยธรรม เช่น การใส่บาตร ทำบุญ ฟังธรรม รวมทั้งกิจกรรมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในการใช้ชีวิตแบบพอเพียง เช่น ส่งเสริมการใช้รถจักรยานในการเดินทางมาทำงาน ส่งเสริมการออมเงิน เป็นการสร้างค่านิยมที่สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรแบบยั่งยืน สามารถเป็นแบบอย่างหรือต้นแบบได้ เช่น กลุ่มกล้วยตากพลังงานแสงอาทิตย์ กลุ่มการเลี้ยงไก่ดำ กลุ่มผลิตน้ำสมุนไพร กลุ่มเลี้ยงโคเนื้อลูกผสม อีกทั้งมีการส่งเสริมโครงการ บ้าน วัด โรงเรียน ทำให้เจ้าหน้าที่มีจิตสำนึกต่อสาธารณะและทำคุณประโยชน์ต่อสังคม
 
ด้านผลสัมฤทธิ์
       หน่วยได้ดำเนินการและพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยได้ทำข้อตกลงกับจังหวัดนครพนมในการเป็นเครือข่ายของจังหวัด ในการเรียนรู้ด้านการนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยหน่วยมีหน่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเพื่อขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างต่อเนื่อง มั่นคง ถาวร โดยมีทิศทางการขยายผลเพื่อให้เกิดเครือข่ายในการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพิ่มมากขึ้น เช่น
       - ศูนย์การเรียนรู้บ้านดงป่ายูง หมู่ ๙ ตำบลนาถ่อน อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
       - ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียน ตชด. บ้านปากห้วยม่วง ตำบลนาเข อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม
       - ศูนย์การเรียนรู้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวทิพมนต์
       - การร่วมกิจกรรมจังหวัดเคลื่อนที่ ซึ่งในปี 2559 หน่วยเข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 6 ครั้ง
       - การร่วมกิจกรรมอำเภอยิ้มเคลื่อนที่ ซึ่งในปี 2559 เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 5 ครั้ง
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
  เจ้าของผลงาน : โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสันตินิมิต กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 41
  หน่วยงานสนับสนุน : กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ความเป้นหน่วยต้นแบบ
       โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนสันตินิมิตร ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัด 72 กิโลเมตร อยู่ห่างจากชายแดนไทย - พม่า 4 กิโลเมตร ประชาชนส่วนใหญ่อพยพมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ประกอบอาชีพทำสวน (สวนปาล์ม สวนยาง สวนผลไม้)
       โรงเรียน ตชด.สันตินิมิตร เป็นหน่วยงานหนึ่งของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 4 ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปฏิบัติตามยุทธศาสตร์หน่วยและนโยบายของผู้บังคับบัญชา รวมทั้งการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเด็ก และเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2550 – 2559 ที่กำหนดเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาไว้คือ "เด็กและเยาวชน มีโภชนาการดี สุขภาพแข็งแรง ใฝ่เรียนรู้ ซื่อสัตย์ ประหยัดและอดทน มีความรู้ทางวิชาการและการอาชีพ เพื่อเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นไทย และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติได้
       จากการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริฯ โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และส่งเสริมให้ประชาชน นักเรียน เยาวชนหรือผู้ที่สนใจ น้อมนำหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และขยายผลสู่บุคลากรของหน่วยตลอดจนประชาชนที่อยู่รอบเขตบริการของโรงเรียนทำให้ลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้กับตนและครอบครัวได้เป็นอย่างดี โดยได้รับการรับรองเป็นสถานศึกษาพอเพียง จากมูลนิธิยุวสถิรคุณ
 
ด้านนโยบายและการจัดหน่วย
       โรงเรียนมีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาขับเคลื่อนในโรงเรียนโดยมอบหมายให้คณะครู นักเรียนและชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนปฏิบัติและแผนกลยุทธ์ผลักดันไปสู่การปฏิบัติจนสามารถรับความเปลี่ยนแปลงจากทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน ที่สำคัญได้ดำเนินการตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามพระราชดำริ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2550 – 2559 ดังนี้
       1. โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทำการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์และผลิตปุ๋ยอินทรีย์
       2. โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โดยจัดกิจกรรมดื่มน้ำผสมสารไอโอดีน ใช้เกลือแกงผสมสารไอโอดีนในการประกอบอาหาร
       3. โครงการส่งเสริมสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร โดยออกเยี่ยม ติดตามหญิงมีครรภ์และเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี ในเขตบริการของโรงเรียนร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล
       4. โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ โดยคัดเลือกและส่งเสริมการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น
       5. โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา เช่น กิจกรรมห้องสมุด
       6. โครงการส่งเสริมสหกรณ์ โดยจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์ออมทรัพย์
       7. โครงการฝึกอาชีพ เช่น การทอผ้าพื้นเมือง
       8. โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมสวนพฤกษศาสตร์ กิจกรรมหญ้าแฝก เป็นต้น
 
ด้านงบประมาณและการบริหารการเงิน
       จากความเป็นโรงเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร งบประมาณในการบริหารจัดการมีน้อย การบริหารงบประมาณต้องคำนึงถึงการใช้จ่ายอย่างคุ้มค่า สุจริต ประหยัด โปร่งใสเป็นไปตามแผนมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานทีสามารถตรวจสอบได้
 
ด้านการพัฒนาบุคลากร
       โรงเรียนมีการส่งบุคลากรในโรงเรียนเข้าร่วมอบรมหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งปลูกฝังให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักสวนครัว และมีช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน ชุมชน เช่น สื่อทีวี วิดีโอ อินเทอร์เน็ต วิทยุ ไลน์ เป็นต้น มีครูตำรวจแดร์ (D.A.R.E.) เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดทั้งในโรงเรียนและชุมชน มีครูภูมิปัญญาเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดทักษะและความรู้ในวิถีพอเพียง ส่งเสริมครู นักเรียน ประชาชน ด้านคุณธรรมจริยธรรม เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ตนเองและครอบครัว จนสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เรียบ ง่าย ลด ละเลิกอบายมุข ส่งเสริมสุขภาพจนขยายไปสู่ชุมชน เป็นแบบอย่างที่ดีแก่โรงเรียนทำคุณประโยชน์ต่อสังคม และสาธารณะจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปทำให้ได้รับการยอมรับจากสาธารณะชนเพิ่มมากขึ้น
 
ด้านผลสัมฤทธิ์
       โรงเรียนเป็นต้นแบบพอเพียงได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานต่างๆ ครู นักเรียน สามารถถ่ายทอดวิถีความพอเพียงไปสู่ผู้อื่นได้ จนได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆจนสามารถเป็นต้นแบบให้แก่ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานอื่นๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับประกาศสถานศึกษาพอเพียงของกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2550
 

ประเภทที่ 3 หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยเท้าพ่อ

รางวัลชนะเลิศ
  เจ้าของผลงาน : บ้านโคกสามัคคี จ.สกลนคร
  หน่วยงานสนับสนุน : หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ความโดดเด่น
       บ้านโคกสามัคคี เป็นหมู่บ้านที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยมีจุดเด่นด้านความสามัคคีร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งมีกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน และธนาคารข้าว เป็นภูมิคุ้มกันของชุมชน เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ มีการนำสมาชิกชุมชนเดินทางไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมถึงการนำผลผลิตและองค์ความรู้ของชุมชนไปเผยแพร่สู่ชุมชนอื่นอีกด้วย
 
ประวัติหมู่บ้านโดยสังเขป
       บ้านโคกสามัคคี หมู่ 8 ตำบลต้นผึ้ง อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ห่างจากตัวอำเภอพังโคนทางทิศเหนือ ประมาณ 21 กิโลเมตร มีราษฎร 168 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 768 คน ราษฎรส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ย้ายถิ่นฐานมาจาก อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร อาชีพหลักคือเกษตรกรรม เช่น ทำนา ปลูกพืชไร่ – พืชสวน และปศุสัตว์ สภาพปัญหาของชุมชนคือ ประสบภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นประจำทุกปี รวมทั้งขาดพื้นที่เก็บกักน้ำเพื่อการเกษตรและปัญหาพื้นดินขาดความอุดมสมบูรณ์
       จากสภาพปัญหาดังกล่าวหน่วยพัฒนาเคลื่อนที่ 26 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการแก้ปัญหา โดยเมื่อปี พ.ศ.2556 ได้เริ่มโครงการขุดลอกลำห้วยไผ่ ความยาว 5,400 เมตร เพื่อแก้ปัญหาน้ำด้านการเกษตร และต่อมาในปี พ.ศ. 2557 ได้ขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ความจุ 22,000 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น
 
การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
ความพอประมาณ
       ส่งเสริมให้มีการผลิตเพื่อการบริโภคในหมู่บ้าน เพื่อลดรายจ่ายด้วยการปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง ทุกบ้านมียุ้งฉาง ประกอบอาหารกินเอง ลดรายจ่ายประจำวัน ทำให้มีความมั่นคงและมีเงินเก็บ
ความมีเหตุผล
       ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถในการผลิต เป็นกลุ่มอาชีพ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกันวางแผน โดยคำนึงถึงทรัพยากรที่มีในพื้นที่มาเป็นวัสดุหลักในแต่ละกิจกรรม เช่น กลุ่มจักสานไม้ไผ่ กลุ่มทอเสื่อ กลุ่มตะกร้าหวาย กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ โดยมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาให้คำแนะนำ
ภูมิคุ้มกัน
       มีการจัดตั้งเครือข่ายร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยการจัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารข้าว เพื่อให้ครัวเรือนในหมู่บ้านที่เป็นสมาชิก สามารถกู้เงินไปลงทุน หรือนำไปใช้ในครอบครัว
ความรู้คู่คุณธรรม
        ราษฎรบ้านโคกสามัคคี เป็นผู้ที่มีใจใฝ่รู้ เพื่อจะนำวิทยาการใหม่ๆ มาพัฒนาหมู่บ้าน จึงมีการส่งเสริมให้บุตรหลานเข้าศึกษาต่อในสาขาต่าง ๆ ตามความสมัครใจ เพื่อพัฒนาเยาวชนให้สามารถ รับช่วงต่อการพัฒนาหมู่บ้านจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ รวมทั้งเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ ให้ได้ความรู้มาประกอบอาชีพ จากผู้รู้ ตลอดจนในหมู่บ้านมีปราชญ์ชาวบ้านสามารถให้คำแนะนำ ผู้ที่เข้ามาศึกษาหาความรู้ในหมู่บ้านเป็นอย่างดี
 
การขยายผลการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภายนอก
       จากผลการดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามรอยเท้าพ่อบ้านโคกสามัคคี ได้รับการกล่าวถึง และเผยแพร่ผลการดำเนินงานในสื่อโทรทัศน์ หลายช่อง สื่อออนไลน์ และได้รับเชิญให้ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเผยแพร่การดำเนินงานหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงตามรายเท้าพ่อ เป็นตัวอย่างให้หมู่บ้านอื่น ๆ ตลอดมา โดยมีคำขวัญหมู่บ้าน คือ
              “ สาวงามบ้านโคก เห็ดระโงก เห็ดเผาะ
               ไพเราะเสียงธรรม อ่างเก็บน้ำห้วยไผ่
               น้ำตกไหลสปริงเวย์ ป่าดอกกระเจียว
               ทุ่งนาเขียวขจี มั่งมีศรีสุข ”
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
  เจ้าของผลงาน : บ้านซับตารี จ.จันทบุรี
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพเรือ

ความโดดเด่น
        บ้านซับตารีมีกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง สร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาหมู่บ้าน มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เช่น บุญบั้งไฟ เป็นการสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน การจัดกิจกรรมวันรำลึกวีรชน 19 ธันวาคม ของทุกปี ที่เป็นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านสืบทอดกันมากว่า 30 ปี นอกจากนั้นยังได้รับประกาศ โล่รางวัลชนะเลิศระดับจังหวัด ในโครงการ 12 ปี แห่งความภาคภูมิใจของกองทุนหมู่บ้านในป 2556 และยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีก เช่น ด้านการออมทรัพย์เพื่อการผลิต น้ำดื่มชุมชนกองทุนหมู่บ้านซับตารี กิจกรรมการปลูกผักปลอดสารพิษ
 
ประวัติหมู่บ้านโดยสังเขป
       หมู่บ้านซับตารี หมู่ 2 ตำบลทุ่งขนาน อำเภอส้อมตก จังหวัดจันทบุรี เป็นหมู่บ้านชายแดนติดชายแดนกัมพูชา ราษฎรในหมู่บ้านเดิมเป็นคนที่ย้ายถิ่นฐานมาจาก อำเภอเดชอุดมและ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 ซึ่งในห้วงเวลานั้นยังเป็นพื้นที่ๆ มีภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยเกิดเหตุการณ์ปะทะระหว่างชุดรักษาหมู่บ้านและตำรวจตระเวนชายแดนกับผู้ก่อการร้าย เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2521 ทำให้มีเจ้าหน้าที่ชุดรักษาหมู่บ้านและตำรวจตระเวนชายแดนเสียชีวิต ราษฎรถูกจับตัวไป รวมทั้งบ้านเรือนราษฎรถูกเผาเสียหาย ปัจจุบันบ้านซับตารี มีจำนวน 385 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 1,176 คน
       
 
การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
ความพอประมาณ
       ดำเนินการ โดยการพึ่งตนเองให้มากที่สุดในการทำเกษตร เช่น ขุดสระเก็บน้ำไว้ใช้เอง เจาะบ่อบาดาล และช่วยกันพัฒนาแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์, ใช้หลักการความพอประมาณ คือการดำเนินโครงการต่างๆ เช่น การก่อสร้างโรงน้ำดื่มให้เหมาะสมตามความจำเป็น
ความมีเหตุผล
       มีกิจกรรมจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินในชุมชน กิจกรรมผลิตน้ำดื่มชุมชนบ้านซับตารีกองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มร้านค้าชุมชน กองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิต และกลุ่มโรงสีข้าวชุมชน
ภูมิคุ้มกัน
       มีกองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินในชุมชน กองทุนแม่ของแผ่นดิน กลุ่มร้านค้าชุมชน และกองทุนออมทรัพย์เพื่อการผลิต
ความรู้คู่คุณธรรม
       ชุมชนมีความรักสามัคคี ที่เห็นได้อย่างชัดเจน คือ การร่วมมือกันภายในหมู่บ้าน ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม มีการศึกษาข้อมูลโครงการหลวง เพื่อนำมาปรับปรุงในชุมชน มีการเอื้อเฟื้อต่อกัน มีการแบ่งปันภายในชุมชน
 
การขยายผลการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภายนอก
       การดำเนินงานของชุมชนสามารถต่อยอดใช้เป็นสถานที่สำหรับศึกษาดูงาน ด้านหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงของพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี ตลอดจนส่วนราชการจากประเทศกัมพูชา ได้มาศึกษาเรียนรู้ ด้านต่างๆ เช่น การจัดตั้งกลุ่มสหกรณ์ กลุ่มโรงสีข้าว ร้านค้าชุมชน เป็นต้น
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
  เจ้าของผลงาน : บ้านล่องมุด จ.สงขลา
  หน่วยงานสนับสนุน : กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ความโดดเด่น
       ยึดหลักการมีส่วนร่วม ซึ่งเริ่มจากครอบครัว ผู้นำชุมชน ได้ใช้เวลาว่างหลังจากกรีดยางพารา มาร่วมทำกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการประชุมร่วมระหว่างแกนนำชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้แกนนำชุมชนมีความเข้มแข็งมีการพัฒนาตัวอย่างต่อเนื่อง ประชาชนมีความศรัทธาในตัวผู้นำและทีมภาคีการพัฒนา ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมที่ดีในทุก ๆ กิจกรรม โดยที่ผ่านมา บ้านล่องมุดได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายเช่น
       1. ได้รับโล่หมู่บ้านเรารักสงขลาดีเด่น (พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมให้ประชาชนรักบ้านเกิด ร่วมพัฒนาหมู่บ้านให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน) ปี 2555
       2. รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 การประกวดคณะกรรมการหมู่บ้านการสร้างกฎหมู่บ้านและการสร้างการยอมรับให้ประชาชนถือปฏิบัติตามกฏหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รางวัลชนะเลิศ อันดับ 2 ระดับจังหวัด ปี 2555
       3. รองชนะเลิศ อันดับ 2 ประกวดคณะกรรมการหมู่บ้านที่ขับเคลื่อนแผนชุมชน ได้รับรางวัล ระดับจังหวัด ปี 2554
       4. ได้รับเกียรติบัตรชนะเลิศระดับอำเภอ การประกวดหมู่บ้านที่มีผลการปฏิบัติงานคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม) ดี ระดับอำเภอและจังหวัด ประจำปี 2553
       5. ได้รับเกียรติบัตร หมู่บ้านที่มาความเข้มแข็ง สามารถรักษาความสงบเรียบร้อย
       6. ได้รับประกาศนียบัตร รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 โครงการหมู่บ้านในฝันสานพลัง (1+6)1=1 เฉลิมพระเกียรติ ปี 2553
 
การดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
ความพอประมาณ
       มีกิจกรรมส่งเสริมให้มีการผลิตเพื่อการบริโภคในหมู่บ้าน เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ หากมีเหลือ จึงจำหน่าย เช่น ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ และจักสานกระเป๋าพลาสติก
ความมีเหตุผล
       มีกิจกรรมส่งเสริมอาชีพที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน เช่น การจักสานกระเป๋าพลาสติก การจัดทำลูกประคบ ส่งเสริมการปลูกผักเหรียงในร่องยาง จัดตั้งกองทุนข้าวสาร การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตามความเหมาะสม ได้แก่ จัดตั้งกลุ่มสตรีจักสานกระเป๋า การรวมกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพหลักของหมู่บ้าน ได้แก่ จัดตั้งกลุ่มน้ำยางบ้านล่องมุดก้าวไกล ปี ๔๖ แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ของชุมชน เช่น การแยกขยะ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ในการทำสวนยางและการปลูกพืชผัก สวนครัว มีการจัดทำเวทีประชาคมทุกครั้งที่มีกิจกรรมในหมู่บ้าน
ภูมิคุ้มกัน
       มีการสร้างเครือข่ายพัฒนา ได้แก่ กลุ่มออมทรัพย์ ฯ เป็นสมาชิกสหพันธ์ออมทรัพย์อำเภอ กองทุนหมู่บ้าน ฯ เป็นสมาชิกเครือข่าย กองทุนหมู่บ้าน ตำบล/อำเภอ แต่งตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ของชุมชน พัฒนาผู้นำและสมาชิก โดยเข้าหลักสูตรผู้นำการพัฒนา
ความรู้คู่คุณธรรม
       มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชน มีการจัดการความรู้ของชุมชน ได้แก่ การนวดแผนไทยและใช้ลูกประคบเป็นสมุนไพร การจักสานกระเป๋า จัดการความรู้ด้านสรรพคุณสวนพืชสมุนไพร มีกิจกรรมตักบาตรฟังธรรมทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน มีกิจกรรมทอดกฐิน และประเพณีที่สำคัญทางศาสนา
 
การขยายผลการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ภายนอก
       ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ สามารถเป็นแบบอย่างและขยายผลไปยัง 3 หมู่ ได้แก่บ้านลำพด หมู่ 3 ตำบลคลองทราย บ้านปลายคลอง หมู่ 6 ตำบลคลองทราย บ้านเขานา หมู่ 8 ตำบลคลองทราย บ้านดังหมูเหนือ หมู่ 2 ตำบลท่าประดู่ และบ้านเลียบ หมู่ 5 ตำบลปลักหนู
       
 

ประเภทที่ 4  ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยทหารหรือตำรวจ
รางวัลชนะเลิศ
  เจ้าของผลงาน : ศูนยืการเรียนรู้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 จ.ยะลา
  หน่วยงานสนับสนุน : กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ประวัติหมู่บ้านโดยสังเขป
       กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๔ ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติงาน โดยจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงขึ้นภายในหน่วย เมื่อ 9 ธันวาคม 2547 เพื่อเป็นต้นแบบให้ข้าราชการครอบครัวและประชาชนในพื้นที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ และนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิต เพื่อสร้างความมั่นคงในครอบครัว และสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนต่อไป
 
การปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
       การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคมของประชาชนในพื้นที่โดยส่งเสริมการพึ่งตนเอง และจัดกิจกรรมที่มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน 5 กลุ่ม คือ กลุ่มพืชผัก กลุ่มเลี้ยงสัตว์ กลุ่มทำปุ๋ยหมัก กลุ่มพืชสมุนไพร และกลุ่มอิฐดินประสาน ซึ่งแต่ละกลุ่มมีการทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย และจัดทำบัญชีครัวเรือน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 44 เป็นสถานที่เพาะบ่มกำลังพลและครอบครัวให้มีความเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปใช้ในการดำรงชีวิตให้มีความมั่นคงด้านอาหาร ด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน และสร้างความเข้มแข็งด้านจิตใจ ปลูกฝังความสามัคคี ความเสียสละ และการทำงานอย่างมีระบบ นอกจากนั้นยังได้ขยายผลสู่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 5 หมู่บ้าน ได้เข้ามาศึกษาหาความรู้ นำไปปฏิบัติให้ประชาชนสามารถลดรายจ่าย และมีรายได้เสริม ตลอดจนเกิดความรักความศรัทธาต่อหน่วยงาน ก่อให้เกิดความสามัคคี ความร่วมมือที่ดีระหว่างส่วนราชการและชุมชนเป็นอย่างดี
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
  เจ้าของผลงาน : ศูนย์การเรียนรู้ กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพอากาศ

ประวัติหมู่บ้านโดยสังเขป
       เริ่มก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ในปี พ.ศ.2555 บริเวณข้างโรงพยาบาลกองบิน กองบิน ๗ แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เนื่องจากพื้นที่ใกล้โรงพยาบาลสามารถดำเนินกิจกรรมได้เพียงการปลูกพืช ส่วนการเลี้ยงสัตว์ และการผลิตปุ๋ยชีวภาพ หรือทำ BIO Gas ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากมีผลกระทบต่อโรงพยาบาล ดังนั้น ในเดือนธันวาคม 2558 จึงย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ คือบริเวณพื้นที่ชั้นนอกของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพยาเสพติด กองบิน 7 ทำให้สามารถทำกิจกรรมได้ครบถ้วน เนื่องจากมีองค์ประกอบที่สมบูรณ์ เช่น บุคลากร คือ เจ้าหน้าที่กิจการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ฟื้นฟู ส่วนผู้เข้ารับการเรียนรู้มี 2 ส่วนคือ ผู้เข้ารับการฟื้นฟู และบุคคลภายนอกที่เข้ามาเรียนรู้เป็นครั้งคราว
 
การปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
       การดำเนินงานภายในศูนย์การเรียนรู้ มุ่งเน้นความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและสังคมโดยใช้วัสดุที่เรียบง่าย จัดหาได้ในท้องถิ่น กิจกรรมต่างๆ มีความเกื้อกูลกัน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีกิจกรรมเรียนรู้ที่สำคัญ ได้แก่ เช่น การเลี้ยงสัตว์ การปลูกพืชการผลิตปุ๋ย และการผลิตพลังงานทดแทน ในการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ศึกษาดูงานจะสอดแทรกความรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและปลูกฝังเพื่อให้ประชาชนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อเข้ามาศึกษาดูงานภายในศูนย์ จะมีสถานีการเรียนรู้ต่างๆ จำนวนมาก โดยมีการใช้วัสดุเหลือใช้ และวิธีการดำเนินการที่เรียบง่าย รวมทั้งมีกิจกรรมต่างๆให้ศึกษา เช่น การเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ กิจกรรมการปลูกพืชชนิดต่างๆ การผลิตปุ๋ยชนิดต่าง ๆ
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       ความโดดเด่นของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ คือเป็นสถานที่ฝึกอาชีพทั้งทางด้านการเกษตร และอาชีพอื่นๆ ให้กับผู้เข้ารับการฟื้นฟูยาเสพติด จำนวน 210 คน ต่อปี และบริการสำหรับบุคคลทั่วไป จำนวน 1,200 คน ต่อปี มีการสาธิตอาชีพที่น่าสนใจ เช่น การทำแหวนจากเหรียญกษาปณ์ การทำไม้กวาด งานหัตถกรรมจากไม้และขี้เลื่อย ซึ่งผลจากการเรียนรู้ของนักเรียนฟื้นฟู ซึ่งได้นำความรู้ไปปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวันภายหลังจบการฟื้นฟู สามารถเลิกใช้ยาเสพติดและมีความสุขในวิถีชีวิตที่เรียบง่ายตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
  เจ้าของผลงาน : ศูนย์การเรียนรู้กองพลทหารปืนใหญ่ จ.ลพบุรี
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพบก

ประวัติหมู่บ้านโดยสังเขป
       กองพลทหารปืนใหญ่ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหน่วยขึ้นตรง กำลังพล ครอบครัว และประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาในเรื่องของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อสร้างความสุขที่เพียงพอตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดขึ้น โดยถือเป็นผลงานแห่งความภาคภูมิใจของกองพลทหารปืนใหญ่ ที่ได้สนองงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการถ่ายทอดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้ขยายสู่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
 
การปฏิบัติตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของหมู่บ้าน
       การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ ได้ดำเนินการทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ โดยจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ได้ดำเนินการจัดทำฐานการเรียนรู้เพื่อเป็นแหล่งปฏิบัติโดยแบ่งพื้นที่แหล่งน้ำ ทำนา ปลูกพืช และที่พักอาศัยรวมทั้งการดำเนินงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น การคัดแยกขยะ การนำขยะมูลฝอยไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การทำปุ๋ยหมักแบบฝังกลบประยุกต์เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อผลิตพืชผักปลอดสารพิษ เช่น โครงการผักกางมุ้ง การปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ การปลูกมะนาวในวงปูน และการปลูกผักสวนครัวตามบ้านพัก ทำให้ข้าราชการและครอบครัวสามารถพึ่งตนเองได้ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและครอบครัว
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       กองพลทหารปืนใหญ่ได้เนินการโดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เกิดเป็นระบบบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทำให้ กองพลทหารปืนใหญ่ นอกจากจะมี ศูนย์การเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางแล้ว ยังมีโครงการต่างๆ มากมาย ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง อาทิ เช่น โครงการปลูกมะลิเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งได้ดำเนินการมามากกกว่า 5 ปี มีรายได้ปีละกว่า 50,000 บาท โครงการ ปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ และผักกางมุ้ง จำหน่ายออกสู่ตลาด เป็นผัก คุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัย
 

ประเภทที่ 5 ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง (ผลงานของชุมชนบริเวณบ้านพักในหน่วยทหารหรือตำรวจ)
รางวัลชนะเลิศ
  เจ้าของผลงาน : ชุมชนแผนก 5 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก จ.นครราชสีมา
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพบก

ประวัติความเป็นมา
       แผนกที่ 5 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ได้เคลื่อนย้ายกำลังพลและยุทโธปกรณ์ เข้าที่ตั้งใหม่ในปี พ.ศ.2548 เริ่มต้นดำเนินกิจกรรมแบบผสมผสานเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มี 3 ขั้นตอน ได้แก่ หน่วยดำเนินการโดยการริเริ่มทำเป็นแนวทางและวิธีการดำเนินการแปลงผักปลอดสารพิษ ให้กำลังพลและครอบครัวมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมและการขยายผลองค์ความรู้ เป็นศูนย์การเรียนรู้และการสร้างวิทยากรสู่ประชาชนรอบหน่วย เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 เริ่มดำเนินการเตรียมพื้นที่ว่างเปล่าของหน่วยในการปลูกผักปลอดสารพิษ (บริเวณบ้านพักของหน่วย) เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 หน่วยได้สนับสนุนการสร้างโรงเลี้ยงไก่ให้กำลังพลและครอบครัว บริเวณที่ตั้งกันหันลมของหน่วย ต่อมาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 หน่วยได้ดำเนินกิจกรรม เริ่มจำหน่ายสินค้าเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งการดำเนินกิจกรรมทำให้กำลังพลและครอบครัวใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์มีรายได้เสริม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอีกทั้งทำให้มีสุขภาพที่แข็งแรงอีกด้วยเป็นผลสำเร็จเป้าหมายเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งสร้างความสมดุลของกระบวนการพัฒนาทุกมิติที่มี “คน” เป็นศูนย์กลางโดยมุ่งสู่ “ความสุข” ที่ยั่งยืน
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ชุมชนบ้านพัก แผนกที่ 5 กองคลังแสง กรมสรรพาวุธทหารบก ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการบริหารจัดการในชุมชนเพื่อเป็นแนวทางในการประหยัด อดออม มีการนำเอาทรัพยากรเหลือใช้มาก่อให้เกิดประโยชน์ต่อครัวเรือนต่อชุมชน และการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม ซึ่งมีกิจกรรมธนาคารขยะเพื่อส่งเสริมการคัดแยกขยะรีไซเคิล เริ่มต้นที่เยาวชนและชุมชนเป็นหลัก กิจกรรมแปลงผักปลอดสารพิษเป็นการปลูกผักในครัวเรือนเพื่อบริโภคเหลือก็นำไปจำหน่าย กิจกรรมการทำบัญชีครัวเรือนโดยทำการตรวจบัญชีครัวเรือนกำลังพลประจำเดือน มีการปรับพื้นที่ว่างเปล่าบริเวณหน้าหน่วยเพื่อทำร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของชุมชนบ้านพักแห่งนี้
ความมีเหตุผล
       สมาชิกในชุมชนมีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน มีการปลูกพืชผักสวนครัวบริเวณบ้านพักของกำลังพลทุกนาย จัดทำโรงเลี้ยงไก่โดยมีบัญชีการเลี้ยงไก่ไข่ บัญชีครัวเรือนผู้ประกอบการร้านค้าหน้าหน่วย รายได้จากการดำเนินการนำมาจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีและอยู่อย่างมีความสุข การมอบทุนการศึกษาประจำปี โดยได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกชุมชน การประชุมติดตามผลการดำเนินงาน รวมทั้งได้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน
ภูมิคุ้มกัน
       สมาชิกชุมชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดียามเจ็บป่วย ชุมชนมีเครือข่ายร่วมมือช่วยเหลือแบ่งปันกันเพื่อช่วยแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ แนะนำองค์ความรู้มาปรับใช้เพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ และก่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน ชุมชนมีกิจกรรมเสริมสร้างให้เกิดครอบครัวที่อบอุ่น ตลอดจนให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ชุมชนมีกลุ่มอาสาสมัครที่จะทำงานช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมส่วนรวมด้วยจิตอาสา การปลูกต้นไม้ตามที่สาธารณะและมีระบบการจัดการที่ดี
ความรู้คู่คุณธรรม
       ชุมชนมีการส่งเสริมและพัฒนาวัดศาสนสถานและแหล่งเรียนรู้ทางด้านคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็นที่ศึกษาดูงานของบุคคลทั่วไป โดยมีครูภูมิปัญญาชาวบ้านหลายด้านที่ถ่ายทอดแนวคิดความรู้ แนวทางการทำงานประสบการณ์และกระบวนการเรียนรู้ต่างๆ ของหมู่บ้าน นอกจากนี้ชุมชนมีการจัดทำแผนการพัฒนาชุมชนตามมติที่ประชุมโดยนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งกองทุนของชุมชนเพื่อให้สมาชิกในชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการและเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดในชุมชน
 
จุดเด่น
       1. การรวบรวมองค์ความรู้เศรษฐกิจพอเพียงเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลให้กับผู้ที่สนใจนำไปปฏิบัติได้ในหลายกิจกรรม
       2. สมาชิกในชุมชนร่วมทำกิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงโคเนื้อ ปลูกมะนาวนอกฤดูกาล เลี้ยงเป็ดบาบารี เลี้ยงแพะ การทำปุ๋ยอินทรีย์ ปลูกแก่นตะวัน กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมเลี้ยงปลาในกระชัง เพาะเห็ดนางฟ้า (ฮังการี) และปรับภูมิทัศน์บริเวณชุมชนในรูปแบบหน้าบ้านน่ามอง หลังบ้านกินได้
       3. การบันทึกบัญชีครัวเรือนของกำลังพลทุกนาย ทำอย่างสม่ำเสมอและบันทึกข้อมูลรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตของชุมชนบ้านพักแห่งนี้อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
  เจ้าของผลงาน : ชุมชนสวัสดิการ หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55
  หน่วยงานสนับสนุน : หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ประวัติความเป็นมา
       ชุมชนสวัสดิการ เป็นชุมชนของข้าราชการและลูกจ้างของหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 55 สำนักงานพัฒนาภาค 5 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2537 โดยได้ประสานงานกับองค์กรส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอใช้พื้นที่สาธารณะบริเวณบ้านโนนธาตุ หลังจากได้ก่อสร้างที่พักอาศัยให้กับครอบครัวของกำลังพลที่ย้ายติดตามมา จัดแบ่งพื้นที่ในการประกอบอาชีพให้ตามความสามารถที่ดำเนินการได้ ซึ่งหน่วยได้เป็นพี่เลี้ยงแนะนำโดยการปลูกพืชที่ใช้ในการประกอบอาหารประจำวันก่อนเป็นอันดับแรกยึดหลัก “กินทุกอย่างที่ปลูกและปลูกทุกอย่างที่กิน” เพื่อลดรายจ่ายภายในครัวเรือน โดยมีหน่วยคุณภาพชีวิตเข้าไปสนับสนุนทั้งด้านความรู้แก่สมาชิก ด้านทักษะอาชีพ ด้านการเกษตรกรรม ด้านการปศุสัตว์ และการนำรูปแบบการบริหารจัดการศูนย์การเรียนรู้เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมตามวิถีไทย ทำให้เกิดเป็นแหล่งการเรียนรู้มีผู้สนใจเข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในชุมชนอย่างต่อเนื่อง
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ส่งเสริมให้มีการผลิตเพื่อการบริโภคในชุมชนหากมีเหลือจึงจำหน่าย มีการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตเป็นขั้นตอนเพื่อให้มีผลผลิตที่เพิ่มมากขึ้น สามารถส่งจำหน่ายให้กับชุมชนและส่วนราชการที่มีความต้องการ และได้มีการแสวงหาแหล่งตลาดเพื่อมารับรองผลผลิตทางการเกษตรของชุมชน รวมทั้งมีการวางแผนการใช้จ่ายและจัดสรรค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม
ความมีเหตุผล
       มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และการพัฒนาขีดความสามารถของสมาชิกในชุมชนจัดทำ EM หรือปุ๋ยหมักชีวภาพแบบง่ายๆ ประหยัดและสามารถทำได้เอง ดำเนินการทางด้านพลังงานทดแทนเป็นการลดค่าใช้จ่าย โดยได้นำแกลบไปใช้ผลิตเตาหุงต้มแบบไม่ใช้ถ่าน จัดประชุมเพื่อแก้ไขเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่มีแบบพึ่งพาตนเองได้ จัดทำแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วมและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ภูมิคุ้มกัน
       สมาชิกในชุมชนสามารถเข้าถึงในการบริการสุขภาพที่ดียามเจ็บป่วยจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำชุมชนที่ได้รับการอบรมให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยการจัดตั้งเครือข่ายโดยมี นายสาคร กุลแก้ว นางละออ ฤทธิ์กำลัง และโรงเรียนบ้านเป้าวิทยาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ชุมชนมีการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลของเครือข่ายในการปลูกพืชเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของชุมชน
ความรู้คู่คุณธรรม
       ชุมชนมีการจัดเวทีประชาคมกิจกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงโดยมีการถ่ายทอดความรู้ให้แก่กันอยู่เสมอ มีส่วนร่วมในการพัฒนาวัดและโบราณสถานในพื้นที่รอบชุมชน มีศูนย์การเรียนรู้ที่สามารถเป็นที่ศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์และถ่ายทอดความรู้ในการดำเนินงานตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับผู้สนใจทั่วไปและผู้ที่เข้าศึกษาดูงานได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ชุมชนมีการจัดตั้งกองทุนต่างๆ ของหมู่บ้านซึ่งเกิดจากความร่วมมือในการจัดตั้งของคนในหมู่บ้าน
 
จุดเด่น
       1. การปลูกพืชผักสวนครัว เดิมเป็นการปลูกผักไว้รับประทานในครัวเรือน ปัจจุบันชุมชนได้มีการรวมสมาชิกและร่วมกันภายในชุมชนได้แบ่งพื้นที่เพื่อปลูกผักจำหน่ายให้พ่อค้า แม่ค้า
       2. การเลี้ยงสุกรจะใช้เศษผัก เศษอาหาร ภายในครัวเรือนเป็นอาหาร การนำพ่อพันธุ์ไปผสมพันธุ์ให้กับเกษตรกรรายอื่น และมีรายได้จากการจำหน่ายลูกสุกรเพิ่มเติมด้วย
       3. ประชาชน นักเรียน ได้เข้ามาศึกษาดูงาน และนำไปขยายผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ได้แก่ โรงเรียนบ้านเป้าวิทยา ได้นำไปขยายผลต่อและจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียน นางละออ ฤทธิ์กำลัง ได้นำไปขยายผลทำไร่นาสวนผสม นายสาคร กุลแก้ว ได้นำไปขยายผลทำไร่นาสวนผสม
       4. การส่งเสริมให้ทุกครอบครัวออมเงินและทำบัญชีการออม และจัดทำบัญชี รายรับ – รายจ่าย ของแต่ละครัวเรือน
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
  เจ้าของผลงาน : ชุมชนครอบครัวบ้านพักข้าราชการ กองเรือยุทธการ จ.ชลบุรี
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพเรือ

ประวัติความเป็นมา
       ชุมชนครอบครัวสุขสันต์ กองเรือยุทธการ เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีครัวเรือนทั้งหมด ๖๐ ครอบครัว มีประชากร 159 คน เริ่มประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2557 เป็นการรวมตัวของสมาชิก โดยให้ชุมชนเป็นศูนย์กลางการแก้ไขปัญหา และให้ความสำคัญในการป้องกันยาเสพติด ซึ่งต้องมีกลไกในการดูแลชุมชนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและดูแลต่อมาได้รับพระราชทานเงินขวัญถุง กองทุนแม่ของแผ่นดินซึ่งได้เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชนเพื่อร่วมกันประกอบความดี ทำคุณประโยชน์เพื่อส่วนรวม ยึดหลักการให้อภัยทางสังคม เอาชนะปัญหาตามทางสันติวิธีได้น้อมนำแนวคิดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการกองทุนแม่ของแผ่นดิน ต่อมาได้จัดทำโครงการ “ชุมชนน่าอยู่ รับรู้ปัญหา ชีวาสดใส” เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องและเชื่อมโยงกิจกรรมอื่นๆ ของชุมชน มีการจัดตั้งกองทุนชุมชนครอบครัวสุขสันต์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในชุมชน และนำไปสู่การสร้างกองทุนสวัสดิการที่มีแก่สมาชิกในชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ชุมขนมีการจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง จัดกิจกรรมการทำปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกไม้ยืนต้นในกระถางและวงปูน การปลูกไม้ประดับ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงปลาน้ำจืด การทำถุงอบสมุนไพรและลูกประคบ และการทำผลิตภัณฑ์ใช้ในครัวเรือน การดำเนินกิจกรรมส่งผลให้สมาชิกในชุมชนเกิดความอยู่ดีมีสุข นำผลผลิตเหลือกินส่งขายให้กับชุมชนข้างเคียง โดยมีการวิเคราะห์ถึงศักยภาพชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนโดยเฉพาะพื้นที่รกร้างว่างเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการเลี้ยงปลา ยึดหลักความพอดีไม่มากไม่น้อยเกินไป มีการจัดทำบัญชีครัวเรือนวางแผนการใช้จ่ายประหยัดและอดออมชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้
ความมีเหตุผล
       ชุมชนได้ร่วมกันศึกษาข้อมูลทางเศรษฐกิจ สังคม และความพร้อมของชุมชน ด้วยเหตุผลความรู้ความเข้าใจและการตัดสินใจ จัดทำแผนพัฒนาชุมชน โดยการแบ่งพื้นที่ และทำกิจกรรมด้านการเกษตร เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว การเผาถ่านด้วยถัง 200 ลิตร และการคัดแยกขยะ จัดตั้งศูนย์การเรียนกองทุนแม่ของแผ่นดินเพื่อขยายแนวคิดการเอาชนะยาเสพติดและพึ่งพาตนเองด้วยหลักสันติวิธี
ภูมิคุ้มกัน
       มีการเตรียมความพร้อมรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยการรวมกลุ่มมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการปลูกพืชผักสวนครัว การเลี้ยงหมู การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาดุก สร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้ทุกคนในชุมชนมีความสุข มีรายได้เพิ่มขึ้นและเกิดความสามัคคีในชุมชน ชุมชนมีความเข้มแข็ง ปราศจากยาเสพติด
ความรู้คู่คุณธรรม
       ชุมชนได้มีการนำหลักวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ การดำเนินกิจกรรมของชุมชน โดยผู้นำชุมชนเข้าร่วมการฝึกพัฒนาความรู้ด้านต่างๆ ที่มีประโยชน์ในการประกอบอาชีพจากหน่วยงานราชการเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และนำความรู้ไปถ่ายทอดให้กับสมาชิกในชุมชน พร้อมทั้งมีการคัดแยกขยะเปียก ขยะแห้งนำมาใช้ประโยชน์เป็นวัสดุและปุ๋ยโดยมีการให้ความร่วมมือและช่วยเหลือกันภายในชุมชน จัดกิจกรรมส่งเสริมความอบอุ่นในครอบครัว การแข่งขันกีฬา การทำบุญ การพัฒนาวัด โดยใช้แนวทางการส่งเสริมความรู้คู่คุณธรรม
 
จุดเด่น
       1.ชุมชนมีการรวมตัวกันเพื่อสร้างพลังของกลุ่ม ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบโดยสมาชิกในชุมชนช่วยกันรักษาความสงบเรียบร้อยภายในชุมชนปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน สังคมยอมรับและสามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       2.การจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกกองทุนแม่ของแผ่นดินชุมชนครอบครัวสุขสันต์มีระเบียบปฏิบัติที่เหมาะสมเป็นรูปธรรม และกองทุนชุมชนครอบครัวสุขสันต์มีระเบียบปฏิบัติที่ดี มีการจัดทำบัญชีงบดุล ตามกำหนดการบันทึกบัญชีครัวเรือนของสมาชิกในชุมชนทำอย่างสม่ำเสมอ
 

ประเภทที่ 6 ครอบครัวข้าราชการ ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปดำเนินชีวิต
รางวัลชนะเลิศ
  เจ้าของผลงาน : ร้อยตำรวจโท สุครีพ โพธิ์ชัย
  หน่วยงานสนับสนุน : กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน

ความสุขเริ่มต้นจากพึ่งตนเอง
       ร้อยตำรวจโท สุครีพ โพธิ์ชัย เป็นหัวหน้าครอบครัวมีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 5 คนประกอบอาชีพรับราชการตำรวจมีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รู้จักอดทนและอดออม ประกอบกับได้ปฏิบัติหน้าที่ครูตำรวจตระเวนชายแดนได้เรียนรู้งานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี และนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวัน เริ่มจากการปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานเองโดยใช้เวลาว่างหลังเลิกจากการทำงานและนำสมาชิกในครอบครัวทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน เกิดผลผลิตตามมาสร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและครอบครัว ตนจึงอยากเพิ่มผลงานเพิ่มผลผลิตจึงต้องเรียนรู้หาความรู้เพิ่มเติม จากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งปราชญ์ชาวบ้าน โดยนำหลักการปฏิบัติและผลงานที่ดีจากสิ่งต่างๆ ที่ได้จากการเรียนรู้มาพัฒนาผลงานและต่อมาได้เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงกับหน่วยงาน ชุมนุมต่างๆ ที่บ้านก็เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชน และหน่วยงานในพื้นที่ใกล้เคียงให้มาศึกษาดูงาน มีการจัดทำบัญชีครัวเรือน รายรับ – รายจ่าย ภายในครอบครัวเพื่อให้ทุกคนภายในครอบครัวรู้ที่ไปที่มาของเงินจากการทำเศรษฐกิจพอเพียงแบบครอบครัวพออยู่พอกินทำให้ครอบครัวมีความสุข สุขทั้งกาย สุขทั้งใจ สุขจากการให้ (ให้ความรู้แก่นักเรียน บุคคลทั่วไป)
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ทำการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ 20 ไร่ โดยใช้เวลาว่างจากการทำงานทั้งเช้าเย็น วันหยุดต่างๆ พัฒนาปรับปรุงการปลูกพืชผักสวนครัวใช้ประกอบอาหารรับประทานในชีวิตประจำวันและใช้พื้นที่ว่างเปล่าบริเวณบ้านมาใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภคภายในครัวเรือนก็จำหน่ายตามท้องตลาด ลดค่าใช้จ่าย การใช้น้ำประปาโดยการสูบน้ำจากบ่อที่ขุดไว้สำหรับเลี้ยงปลาและใช้น้ำสำหรับรดน้ำพืชผัก การเลี้ยงเป็ดไก่ให้อาหารที่นำเศษอาหารจากร้านอาหาร เศษพืชผักที่ปลูกและรำข้าวในชุมชน การทำน้ำยาล้างจานและน้ำยาขัดพื้นห้องน้ำไว้ใช้เอง บริเวณของบ้านจะแบ่งพื้นที่ปลูกผลไม้ ทำสวนยางพารา ปลูกมะนาวนอกฤดูกาล นอกจากนั้นบ้านมีการทำโรงเพาะเห็ดเก็บผลผลิตไว้ทำอาหารและจำหน่ายภายในชุมชน
ความมีเหตุผล
       ปลูกพืชผักสวนครัวตลอดทั้งปี พืชผักอื่นๆตามฤดูกาล ปลูกพืชผักซุ้มไม้เลื้อยสำหรับเป็นที่จอดรถและทางเดิน โดยใช้แรงงานคนภายในครอบครัว ผลผลิตที่ได้ก็รับประทานภายในครอบครัว เครือญาติและการแปรรูปทำเป็นผักดองไว้รับประทาน เหลือก็จำหน่ายตามท้องตลาด ลดค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำประปา โดยการสูบน้ำจากบ่อน้ำที่มีอยู่ มีรายได้เสริมจากการเลี้ยงปลา เลี้ยงกบ การแปรรูปไข่เป็ดทำเป็นไข่เค็ม ทำสวนยางพารา โดยให้ญาติพี่น้องที่ไม่มีงานทำกรีดยางพาราหารายได้และการปลูกมะนาวที่บังคับการให้ผลผลิตนอกฤดูกาลนำผลผลิตจำหน่ายในชุมชนและส่งให้กับร้านค้าในชุมชน
ภูมิคุ้มกัน
       ผลผลิตที่ได้จากเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่แม่บ้านจะทำความสะอาดไข่เก็บไว้รับประทานและจำหน่ายตามชุมชน ส่วนหนึ่งแปรรูปทำเป็นไข่เค็ม เก็บไว้รับประทานเป็นของฝาก และจำหน่ายตามท้องตลาดเดือนละ 1 ครั้ง และทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาขัดพื้นห้องน้ำไว้ใช้เองพร้อมเป็นของฝากผลผลิตจากการทำกิจกรรมของครอบครัวมีราคาย่อมเยาและถูกกว่าท้องตลาดเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชนและเป็นการลดค่าจ่ายในการซื้อสินค้าบริโภคของชุมชนด้วย
ความรู้คู่คุณธรรม
       จากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเริ่มเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน ทำจนเป็นกิจวัตรประจำวันผลการปฏิบัติสามารถเป็นแบบอย่างกับคนในชุมชนและบุคคลทั่วไป โดยยึดหลักการดำรงชีวิตด้วยความขยันซื่อสัตย์ และอดทน
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       มีความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ได้รับการไว้วางใจให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่หน่วยต่างๆ สร้างศูนย์การเรียนรู้ในหน่วยงานสามารถเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นในการขยายผลให้เพื่อนบ้านละผู้สนใจได้มาปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้นทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเองรู้จักเก็บออมเงิน ใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ และยังช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีมากขึ้น
 
จุดเด่น
       1. เรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลาและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์พัฒนาการทำเศรษฐกิจพอเพียง
       2. กิจกรรมที่ดำเนินการมีหลากหลายสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างดีให้กับคนในชุมชน ในเรื่องการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล การเลี้ยงปลาในบ่อดิน การเลี้ยงกบ การแปรรูปอาหารจากไข่เป็ดมาเป็นไข่เค็ม และการเลี้ยงปลาร่วมกับการปลูกพืชในระบบอะควาโปนิกส์ ซึ่งการผลิตในระบบนี้เป็นเกษตรอินทรีโดยแท้ ลดการปนเปื้อนเชื้อโรคที่มากับดิน ลดข้อจำกัดเรื่องปริมาณน้ำเป็นระบบประหยัดน้ำ ลดข้อจำกัดเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ไม่ปล่อยน้ำเสียสู่ภายนอก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค ควบคุมสภาพแวดล้อมได้ สามารถผลิตได้ตลอดทั้งปี
       3. การบันทึกบัญชีครัวเรือน บัญชีรายรับ - รายจ่าย ของครอบครัวทำอย่างสม่ำเสมอ
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
  เจ้าของผลงาน : ร้อยโท โสภณ จงสุขประดิษฐ์
  หน่วยงานสนับสนุน : หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา

ความสุขเริ่มต้นจากพึ่งตนเอง
       ร้อยโท โสภณ จงสุขประดิษฐ์ เป็นหัวหน้าครอบครัวมีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 4 คน ประกอบอาชีพรับราชการทหารมีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่ายไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย รู้จักอดทนและอดออม เมื่อปี พ.ศ.2544 ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หลังจากเลิกงานประจำวันมา ได้ทำอาชีพเสริมเป็นเกษตรกร ทำสวนยางพารา สวนกล้วย สวนมะพร้าว และไม้ผลชนิดต่างๆ ส่วนการเลี้ยงสัตว์ ได้เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงไก่พื้นบ้าน เลี้ยงปลากินพืชในบ่อดิน และปลาในกระชัง ทำให้มีรายได้ เพิ่มจากการประกอบอาชีพเสริม จนมีฐานะมั่นคง จัดทำบัญชีครัวเรือน บัญชีรายรับ – รายจ่าย จัดสรรรายจ่าย ให้สมดุลกับรายรับ และเก็บออมไว้ใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       ทำการเกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่ 30 ไร่ แบ่งเป็นสวนยางพารา 15 ไร่ บ่อปลา แหล่งน้ำสำรอง 2 ไร่ ไม้ผล 3 ไร่ ผักสวนครัว 8 ไร่ ปศุสัตว์ 1 ไร่ และที่อยู่อาศัย พื้นที่ส่วนกลางการเรียนรู้ 1 ไร่ สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์พืช การทำปุ๋ยหมัก แทนการใช้สารเคมี ทำให้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนข้าราชการ และของประชาชนทั่วไป เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนในสังคม
ความมีเหตุผล
       หลังจากเลิกงานและวันเสาร์ – อาทิตย์ ประกอบกิจกรรมดูแลรักษาสวนยางพาราโดยทำการพรวนดิน ถางหญ้า ใส่ปุ๋ย ภายในสวนยางพารา 15 ไร่ พื้นที่บ่อเลี้ยงปลา 2 ไร่ ประกอบด้วย ปลานิล ปลาทับทิม ปลาใน ปลาตะเพียน และปลาดุก และบนพื้นที่ 8 ไร่ ยังจัดสรรพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักสวนครัวไม่ว่าจะเป็น พริก มะเขือ ข่า ตะไคร้ กะเพรา และพืชที่เป็นเครื่องเทศ เครื่องแกง เพื่อใช้ประกอบอาหารในครัวเรือนรวมทั้งเก็บผลผลิตไปขายที่ตลาดชุมชนเพื่อเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง โดยทุกๆ เช้า พ่อค้าคนกลางมารับซื้อผลผลิตไปจำหน่าย สำหรับการเลี้ยงไก่พื้นเมืองนั้น ขายเป็นไก่เนื้อ และไก่ไข่มีผลผลิต 3 แผงต่อวัน
ภูมิคุ้มกัน
       วางแผนจัดสรรพื้นที่การเกษตรแบบผสมผสานที่ดีโดยจัดกิจกรรมตามความเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป ศึกษาเรียนรู้การทำกิจกรรมจากปราชญ์ชาวบ้าน และเนื่องจากเป็นวิทยากรถ่ายทอดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชนและหน่วยงานได้แนะนำและแจกจ่าย น้ำหมักชีวภาพให้กับผู้สนใจใช้ ครอบครัวร่วมทำบุญตามประเพณี ความรู้คู่คุณธรรม
ความรู้คู่คุณธรรม
       ไม่หยุดที่จะหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในตำรา หรือจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดประสบการณ์กับผู้อื่น ประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตมีความรับผิดชอบในหน้าที่การงาน มุ่งมั่นในการประกอบอาชีพ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบากและไม่เบียดเบียนผู้อื่น
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       มีความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงในศูนย์การเรียนรู้ของหน่วย สามารถลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนในการประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์พืช การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักใช้แทนการใช้สารเคมี เป็นที่ยอมรับของเพื่อนข้าราชการและของประชาชนทั่วไป เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคม
 
จุดเด่น
       1. ทำเกษตรกรรมแบบผสมผสานอย่างเป็นรูปธรรม นำความรู้ไปพัฒนาปรับใช้ที่ศูนย์การเรียนรู้ของหน่วย
       2. กิจกรรมตามเกษตรทฤษฎีใหม่จัดสรรพื้นที่ได้เหมาะสม มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน การบันทึกบัญชีครัวเรือนทำอย่างสม่ำเสมอ
 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2
  เจ้าของผลงาน : เรืออากาศตรี ประวิทย์ เชื้อชาญ
  หน่วยงานสนับสนุน : กองทัพอากาศ

ความสุขเริ่มต้นจากพึ่งตนเอง
       เรืออากาศตรี ประวิทย์ เชื้อชาญ เป็นหัวหน้าครอบครัวมีสมาชิกในครอบครัว จำนวน 4 คน ประกอบอาชีพรับราชการทหาร มีชีวิตความเป็นอยู่เรียบง่าย ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยไม่เบียดเบียนใคร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุขทุกชนิด มีการทำบัญชีครัวเรือนเพื่อจะได้ทราบสถานะของครอบครัว โดยมีคุณแม่เข็มทอง เชื้อชาญ เป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตที่พอเพียง เริ่มปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อแรกเริ่มรับราชการ จากคำปฏิญาณต่อหน้าธงชัยเฉลิมพล ทำให้เกิดแรงจูงใจประกอบกับได้ทำหน้าที่ฝึกทหารกองประจำการ จึงได้ขออนุมัติใช้พื้นที่ของหน่วยสำหรับใช้เป็นพื้นที่รองรับน้ำท่วม (แก้มลิง) อยู่ติดกับหมู่บ้านนาเมืองซึ่งเป็นที่รกร้างมาทำการเกษตร “โครงการเลี้ยงสัตว์ปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ลดรายจ่ายในครัวเรือน” โดยได้ศึกษาการปลูกพืชแบบผสมผสานจาก นาย บุญเหล็ง สายแวว ปราชญ์ชาวบ้าน และได้คำแนะนำจาก ร้อยเอก สุวัฒน์ บุญสูง วิทยากรจากหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 56 ในเรื่องการใช้ประโยชน์จากวัสดุธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและได้เผยแพร่องค์ความรู้ให้กับผู้ที่สนใจ และทหารกองประจำการ ภายในสวนเกษตรมีการปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เลี้ยงหมู และเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ผลผลิตที่เหลือจากการบริโภค สามารถแบ่งปันให้เพื่อนบ้านและนำไปจำหน่ายที่ตลาด
 
การประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ความพอประมาณ
       เรืออากาศตรี ประวิทย์ เชื้อชาญ มีการออมทรัพย์ด้วยการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์โดยส่งเบี้ยประกันรายเดือน ลูกทั้งสองคนมีบัญชีเงินออม ครัวเรือนทำบัญชี รายรับ – รายจ่าย อย่างสม่ำเสมอ มีการวางแผนการใช้เงินและจัดสรรค่าใช้จ่ายให้สมดุลกับรายรับในแต่ละเดือน ปลอดอบายมุขโดยมี พ่อ แม่ เป็นตัวอย่างของลูกๆ ในการไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของมึนเมา ไม่เล่นการพนัน ไม่ซื้อหวย พร้อมสอนให้ลูกรู้จักโทษของอบายมุขอยู่เสมอ ครอบครัวมีความสุขความพอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่เห็นได้จากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การปลูกพืชผักโดยช่วยกันดูแล รดน้ำต้นไม้ ดูแมลงที่มากินต้นไม้และใส่ปุ๋ย
ความมีเหตุผล
       ส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อวางแผนการดำเนินชีวิตในการทำกิจกรรมต่างๆ ในบ้าน คิดหารายได้เสริมด้วยการทำการเกษตรแบบผสมผสาน มีการนำทรัพยากรที่เหลือมาสร้างมูลค่า มีการใช้เหตุผลประกอบการตัดสินใจอย่างรอบคอบ หลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท โดยสมาชิกในครอบครัวมีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ร่วมแรงร่วมใจรับผิดชอบหน้าที่ของตนเอง
ภูมิคุ้มกัน
       สมาชิกในครอบครัวมีสุขภาพกายที่ดี ไม่มีโรคประจำตัวมีกิจกรรมออกกำลังกายด้วยกันอยู่เสมอมีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาร่วมกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายในครอบครัว เรื่องที่ทำงาน เรื่องที่โรงเรียนของลูกๆ มีการทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน การไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ ปู่ย่า ตายาย มีเวลาอยู่ร่วมกัน ร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์ มีอาชีพเสริมนอกเหนือจากอาชีพหลักที่ทำอยู่เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยง เช่น เผาถ่านจากเศษไม้เพื่อขายถ่านและขายน้ำส้มควันไม้ ทำน้ำหมักจากผัก ผลไม้ พืชต่างๆ เพื่อเป็นยาฆ่าแมลง ทำน้ำหมักมูลสุกร เพื่อใช้แทนปุ๋ย
ความรู้คู่คุณธรรม
       บริจาคทรัพย์ สิ่งของช่วยเหลือสังคมอยู่เสมอ เป็นวิทยากรประจำกองพันเป็นคณะกรรมการของหมู่บ้านในการทำกิจกรรมต่างๆ มีความใฝ่รู้และนำความรู้มาปฏิบัติจนเกิดประโยชน์อยู่เสมอ การอบรมให้ความรู้กับทหารกองประจำการ เพื่อนบ้าน ญาติและนักศึกษา กศน. อย่างต่อเนื่อง การเรียนรู้การใช้ชีวิตวิถีพุทธ (การเข้าวัด การทำบุญ การรู้จักแบ่งปัน) มีการเรียนรู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ด้วยการเรียนรู้วิธีการทำเกษตรพอเพียง การเลี้ยงสัตว์และการดำเนินชีวิตตามแบบที่มีอยู่เสมอ พร้อมทั้งนำมาปรับใช้ในครัวเรือนให้เหมาะสมกับสมาชิกในครัวเรือนอยู่เสมอ
 
ผลสำเร็จจากการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
       มีความมั่นคงในชีวิต ครอบครัวอบอุ่น ได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรถ่ายทอด ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงแก่หน่วยงานต่างๆ ศูนย์การเรียนรู้ในหน่วยงาน สามารถเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นในการขยายผลให้เพื่อนบ้านและผู้สนใจได้มาปฏิบัติตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงกันมากขึ้นทุกครัวเรือนปลูกพืชผักสวนครัวไว้กินเอง รู้จักเก็บออมเงินใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้และยังช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อม โดยช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์แทนปุ๋ยเคมีมากขึ้น
 
จุดเด่น
       1. การบริหารจัดการนำสิ่งที่เหลือใช้มาประยุกต์ใช้เพิ่มมูลค่าการประยุกต์ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาเป็นส่วนผสมอาหารหมูมีองค์ความรู้ในการเลี้ยงกุ้งก้ามแดงโดยนำใบหูกวางมาใช้เป็นอาหาร
       2. การบันทึกบัญชีครัวเรือน บัญชีรายรับ – รายจ่ายของครอบครัวทำอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิทยากรประจำ ศูนย์การเรียนรู้ของหน่วย