จากฟากฟ้า สู่มหานที
นิทรรศการ "จากฟากฟ้า สู่มหานที"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ สร้างโครงการต่างๆ ขึ้นมามากมาย เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่พสกนิกรชาวไทยทั่วทุกภาคพื้นในแผ่นดินไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์ ดังเช่น
การทำฝนหลวงพระราชทาน
เพื่อบรรเทาทุกข์ในพื้นที่แห้งแล้งให้กับเกษตรกร ได้มีการดำรงชีวิตอย่างอุดมสมบรูณ์ ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างต่อเนื่อง
ขั้นตอนการทำฝนหลวง มี ๓ ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ ๑ ก่อกวน คือการเร่งให้เกิดเมฆ โดยใช้เครื่องบิน โปรยสารเกลือโซเดียมคลอไรด์ ให้แกนกลั่นตัว จนเกิดก้อนเมฆบนท้องฟ้า
ขั้นตอนที่ ๒ เลี้ยงให้อ้วน คือการเร่งการเจริญเติบโตของก้อนเมฆโดยใช้เครื่องบินโปรยสารแคลเซียมคลอไรด์
ขั้นตอนที่ ๓ โจมตี คือการบังคับให้เกิดฝน โดยใช้เทคนิคการโจมตีแบบ SANDWICH โดย ใช้เครื่องบิน ๒ ลำ โปรยสารโซเดียมคลอไรด์และสารยูเรีย ลงบนก้อนเมฆ เสริมการโจมตี : เพิ่มปริมาณน้ำฝนด้วยการโจมตีจากน้ำแข็งแห้ง
การโจมตีเมฆเย็น : ทำการยิงพลุสารเคมี ซิลเวอร์ไอโอไดด์ จะทำให้ได้เม็ดฝนใหญ่ขึ้น โจมตีแบบ SUPER SANDWICH : ให้ฝนตกหนักต่อเนื่องและทำให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น
โครงการฝายชะลอความชุ่มชื้น หรือCheck Dam
สามารถช่วยลดการพังทลายของดินและลดความรุนแรงของกระแสน้ำในลำห้วยเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของพืนป่าให้มีระยะเวลาที่นานขึ้น และช่องกักเก็บตะกอนที่ไหลลงมากับน้ำในลำห้วยได้ดี เป็นการยืดอายุแหล่งน้ำตอนล่างให้ตื้นเขินช้าลง เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่พื้นที่ และนั่นเป็นวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำได้ดีมากวิธีการหนึ่ง ซึ่ง Check Dam ตามแนวพระราชดำริ กระทำได้ ๓ รูปแบบ ได้แก่
๑. Check Dam แบบท้องถิ่นเป็นการสร้างด้วยวัสดุธรรมชาติที่มีอยู่
๒. Check Dam แบบเรียงด้วยหินค่อนข้างถาวร เป็นการก่อสร้างด้วยการเรียงหินเป็นผนังกั้นน้ำ
๓. Check Dam แบบคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการก่อสร้างแบบถาวร
โครงการป่าสักชลสิทธิ์ กักน้ำหลาก แก้น้ำแล้ง
ใช้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณลุ่มแม่น้ำป่าสัก กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างปัจจุบันเขื่อนป่าสักมีความจุ ๙๖๐ ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรน้ำ ๑๗๑ ล้านลูกบาศก์เมตรให้พื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำป่าสัก ๑๓๕,๐๐๐ ไร่ ลดการขาดน้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ ๔๒๙ ลูกบาศก์เมตร โดยบริหารการปล่อยน้ำที่สอดคล้องกับปริมาณน้ำฝนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น ยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาที่ อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสามารถทำรายได้ปีละ ๑๒-๒๐ ล้านบาท
โครงการแก้มลิงป้องกันน้ำท่วม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพื้นที่วิกฤติน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเกิดจากสาเหตุของน้ำทั้ง๓ ชนิด ได้แก่ น้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปรียบเทียบการกินอาหารของลิงกับโครงการแก้มลิงว่า "ตามปกติเวลาเราให้กล้วยกับลิง ลิงจะเคี้ยวแล้วเก็บไว้ในแก้มลิง เขาเคี้ยวแล้วเอาไปเก็บในแก้ม น้ำท่วมลงมาถ้าไม่ทำโครงการแก้มลิง น้ำท่วมนี้จะเปอะไปหมด อย่างที่เปอะปีนี้ เปอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำแก้มลิงเพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้ เวลาน้ำทะเลขึ้นไม่สามารถระบายออกทะเล ก็ขึ้นมาดันขึ้นไปตามแม่น้ำไปเกือบถึงอยุธยา น้ำทำให้น้ำลดไปไม่ได้ เวลาน้ำทะเลลง น้ำที่เอ่อขึ้นมานั้น ก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยาก้ท่วมต่อไปจึงต้องมีแก้มลิง เราพยายามจะเอาน้ำออกเมื่อมีโอกาส " พระราชดำรัส เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘ ณ.ศาลาดุสิตดาลัย ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล แก้มลิงที่มีลักษณะเป็นคลองหรือบึงขนาดใหญ่ที่อยู่บริเวณชายทะเลและมีประตูปิดเปิดบริเวณแก้มลิง
โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีใหม่
โครงการเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือ ประกอบอาชีพสำหรับใช้ปฏิบัติจริง เพื่อนำไปสู่วิถีการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง โดยสามารถแบ่งเป็น ๓ ขั้น บูรณาการสำหรับเกษตรกร
ขั้นต้น : จัดสรรพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วนคือ
๑. พื้นที่น้ำ ๓ ส่วน
๒. พื้นที่นาเพื่อเป็นนาปลูกข้าว ๓ ส่วน
๓. พื้นที่ดินสำหรับปลูกพืชไร่นา ๓ ส่วน
๔. พื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ ๑ ส่วน
จัดลำดับสำคัญของการใช้ทรัพยากรคือ ต้องมีสระน้ำ ปลูกข้าว ผลไม้ และเลี้ยงสัตว์
ขั้นรวมกลุ่ม : สร้างการมีส่วนร่วมและความเห็นพ้อง รวมกำลังการผลิตการตลาดพึ่งพากัน เข้าใจจุดมุ่งหมายของชุมชน ยึดหลักความพอเพียงในการดำรงชีวิต
ขั้นก้าวหน้า : ประสานความร่วมมือสร้างเครือข่ายระหว่าง ภาคประชาชน ราชการและธุรกิจทั้งในระดับเดียวกันและต่างระดับกัน ให้เข้ามาทำงานสนับสนุนการพัฒนา
โครงการป่าชายเลนทรัพยากรชายฝั่ง
ชาวบ้านเรียกกันว่า ป่าชายเลนน้ำเค็ม ป่าเลน ป่าโกงกาง เป็นป่าที่เกิดขึ้นตามชายฝั่งทะเลและปากแม่น้ำ เป็นป่าไม้ผลัดใบ มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น แต่ละชนิดมีรากค้ำยัน หรือรากหายใจแตกต่างกันออกไปตามแต่ละชนิดของต้นไม้นั้นๆ นับได้ว่าป่าชายเลนเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ก่อให้เกิดระบบนิเวศน์ขนาดใหญ่ ประโยชน์ของป่าโกงกางกรองระบบของเสีย เนื่องจากระบบรากของพืชในป่าชายเลนนั้นสามารถปล่อยก๊าซออกซิเจนให้กับน้ำเสีย และยังช่วยการย่อยสลายของสารอินทรีย์ เป็นแนวกันชนบริเวณชายฝั่งป้องกันคลื่นลมและการบุกรุกจากทั้งภัยธรรมชาติและฝีมือมนุษย์แหล่งอาหารที่สำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง ป่าชายเลนมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทยอย่างมากมายมหาศาล