ทศวรรษที่ิ ๙
(พ.ศ.๒๕๕๐ - ปัจจุบัน)
ทศวรรษที่ ๙
พ.ศ.๒๕๕๐ - ปัจจุบัน
โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ
- เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงซื้อที่ดินจากราษฎรบริเวณอ่างเก็บน้ำ หนองเสือ ประมาณ ๑๒๐ ไร่ และต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ทรงซื้อแปลงติดกันเพิ่มอีก ๑๓๐ ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งหมด ๒๕๐ ไร่ โดยมีพระราชดำริให้ทำเป็นโครงการตัวอย่างด้านการเกษตร รวบรวมพันธุ์พืชเศรษฐกิจในพื้นที่ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี และพื้นที่ใกล้เคียงมาปลูกไว้ที่นี่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เป็นต้นมา และพระราชทานพันธุ์มันเทศซึ่งออกมาจากหัวมันที่ตั้งโชว์ไว้บนตาชั่งในห้อง ทรงงานที่วังไกลกังวล ให้นำมาปลูกไว้ที่นี่ พระราชทานชื่อโครงการว่า "โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ"
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าโครงการด้วย พระองค์เอง เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๒
- นอกจากโครงการด้านการเกษตรแล้ว ยังมีกังหันลมผลิตไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า มีกำลังการผลิตขนาด ๕๐ กิโลวัตต์ ปัจจุบันมีทั้งหมด ๒๐ ต้น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดำเนินการเข้ามารับซื้อพลังงานสะอาดที่ได้นี้ต่อไป์
- นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่พสกนิกรชาวไทยที่ทำการเกษตรในผืนดินที่แห้งแล้ง จะได้มีศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการเกษตรกรรม ทั้งชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง และเกษตรกรชาวไทย เพื่อศึกษาและนำไปดัดแปลงใช้ให้เหมาะสมและเป็นประโยชน์ในผืนดินของตนเองต่อไป
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "คลองลัดโพธิ์"
- คลองลัดโพธิ์ เป็นคลองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงมีกระแสพระราชดำรัสถึง เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ว่าเป็นสถานที่ตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ต้องการความรู้เรื่องเกี่ยวกับเวลาน้ำขึ้นน้ำลง หากบริหารจัดการให้ถูกต้องจะสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ และทรงเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคไปทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และทรงเปิดสะพานภูมิพล ๑ ภูมิพล ๒ ในวันที่ ๒๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
- คลองลัดโพธิ์ เป็นชื่อคลองเดิม บริเวณเขตจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร (ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ) เดิมที่มีลักษณะตื้นเขิน ต่อมาได้จัดสร้างเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โดยยึดหลักการ "เบี่ยงน้ำ" (Diversion) ภายใต้การดูแลของหน่วยงานหลัก ๓ หน่วยงานคือ กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
- มีหลักการคือ จากสภาพของแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมที่มีลักษณะไหลวนคดเคี้ยวบริเวณรอบพื้นที่บริเวณบางกระเจ้านั้นมีความยาวถึง ๑๘กิโลเมตร นั้นทำให้การระบายน้ำที่ท่วมพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครเป็นไปได้ช้า ไม่ทันเวลาน้ำทะเลหนุน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯจึงมีพระราชดำริให้พัฒนาใช้คลองลัดโพธิ์ ซึ่งเดิมมีความตื้นเขินมีความยาวราว ๖๐๐ เมตร ให้ใช้ระบายน้ำที่หลากและน้ำที่ท่วมทางสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่ทะเลทันทีในช่วงก่อนที่น้ำทะเลหนุน และปิดคลองลัดโพธิ์เมื่อน้ำทะเลหนุน เพื่อหน่วงน้ำทะเลไม่ให้ขึ้นลัดเลาะไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาที่คดโค้งถึง ๑๘ กิโลเมตรก่อนซึ่งใช้เวลามากจนถึงเวลาน้ำลง ทำให้ไม่สามารถขึ้นไปท่วมตัวเมืองได้
พระอัจฉริยภาพด้านการจัดการน้ำ
- จากการเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนพสกนิกร นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์ ทำให้ทรงตระหนักว่าภัยแล้ง และน้ำเพื่อการเกษตรและบริโภคอุปโภคเป็นปัญหาที่รุนแรงและสำคัญที่สุด การจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูก และบริโภคอุปโภค นับว่าเป็นงานที่มีความสำคัญ และมีประโยชน์ อย่างยิ่งสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ในการช่วยให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ตลอดปี ในปัจจุบันพื้นที่การเพาะปลูกส่วนใหญ่ทุกภาคของประเทศเป็นพื้นที่เพาะปลูกนอกเขตชลประทาน ซึ่งต้องอาศัยเพียงน้ำฝน และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเป็นหลัก ทำให้พืชได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอตามที่ต้องการ เป็นผลให้ผลผลิตที่ได้รับไม่ดีเท่าที่ควร
- พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใฝ่พระราชหฤทัยเกี่ยวกับการจัดการพัฒนาแ หล่งน้ำเป็นอย่างยิ่ง มีพระราชดำริว่าน้ำคือปัจจัยสำคัญต่อมนุษย์และบรรดาสิ่งมีชีวิตอย่างถ่องแท้ ดังพระราชดำรัส ณ สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ความตอนหนึ่งว่า "…หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้…"